One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames

Challen world

ดนตรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปียโนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผมเห็น ผมได้ยินตั้งแต่เกิด  และพาผมโลดแล่นไปในอีกโลกหนึ่ง....

challen.jpg

ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นเปียโนตั้งอยู่ในบ้านแล้ว  เป็น autopiano ของ pianista  ผลิตในนิวยอร์ค  เปียโนตัวนี้แม่บุญธรรมให้พี่สาวผมมาด้วยสิเน่หา  มันแก่จนเครื่องเคราหมดสภาพแล้ว  ถ้าจะซ่อมใหม่ก็เท่ากับซื้อใหม่ตัวนึง  ผมดองใส่ขวดไปฝากแหมะไว้ที่บ้านลุงน้ำชา  ตอนนี้ผมมีหลังใหม่แล้ว  เป็นเปียโนเชื้อชาติอังกฤษ  ถือสัญชาติมาเลเซีย   เสียงมันหวานไพเราะดังนกไนติงเกล 
 
ครั้งแรกที่ผมรู้จักเปียโนเชื้อชาติอังกฤษคือเปียโน Chappell  มันเป็นเปียโนเก่า เสียงมันแหลมบาดแก้วหูชนิดไม่ได้สร้างความประทับใจอะไรให้ผมเลยสักนิด  ผมเข้าใจว่าอาจารย์ฮัดจินส์ ครูเปียโนของผมไม่ได้ปรับวอยซ์ซิ่ง  ผมมีโอกาสได้เล่น Chappell อีกครั้งหนึ่งที่อพาร์ทเมนท์ของท่านกงศุลเดนมาร์คเป็นแบบ spinet (แคระเหมือนตู้เตี้ยๆใบหนึ่งมากกว่าจะดูเป็นเปียโน)  เสียงของ Chappell ตัวดังกล่าวมัดใจผมจนอยู่หมัด 
 
ห้างลักกีมิวสิคอยู่ที่ปากซอยโบสถ์ของผมเอง  ผมแวะเวียนไปดูเปียโนหลายครั้ง ลองเล่นหลายๆยี่ห้อที่อยู่ในร้านรวมถึง Challen ที่มีเชื้อชาติอังกฤษเช่นกัน  หลังจากที่ลูบๆคลำๆบ่อยเข้าทำให้ผมเคลิบเคลิ้มในน้ำเสียงของมัน  ผมทุบกระปุกทุกใบของผมและกู้แบงค์สมทบอีกส่วนหนึ่งเพื่อซื้อของเล่นชิ้นที่แพงที่สุดในชีวิต มันกลายเป็นของชิ้นที่ผมรักมากที่สุดไปแล้ว

challenarm.jpg
By Royal Appointment

มาทำความรู้จักเปียโนของ Challen

 

Challen เป็นผู้ผลิตเปียโนรายแรกๆของอังกฤษในราวปีค.ศ.1804  โดย โธมัส บุชเชอร์ Thomas Butcher ตั้งโรงงานอยู่ในลอนดอน  บุชเชอร์ชื่อตระกูลบอกเล่าที่มาว่าเป็นคนขายเนื้อ แต่จับพลัดจับผลูมาผลิตเปียโนอย่างไรผมก็ไม่อาจทราบได้  ต่อมามีคนๆหนึ่งชื่อว่าวิลเลียมส์ แชลเลิ่น Williams Challen ได้เข้ามาในธุรกิจในราวปี 1816 และได้ซื้อธุรกิจไว้เป็นของตัวในปี 1830 จึงได้ผลิตเปียโนใช้ชื่อยี่ห้อว่า Challen ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ธุรกิจของโรงงานประกอบเปียโนแชลเลิ่นเข้าสู่ยุคตกต่ำในปี 1959 และตกไปอยู่ในมือของตระกูลบราสเตด Brasted brothers  ในที่สุดก็ขายกิจการให้กับ Barrat & Robinson ซึ่งเป็นโรงงานเปียโนยี่ห้อดังอีกยี่ห้อหนึ่งของอังกฤษ   ปี 1984 ยี่ห้อแชลเลิ่นถูกขายต่อให้กับ John Broadwood บริษัทเปียโนที่เก่าแก่ที่สุดและดีที่สุดของอังกฤษ  เราไม่เคยเห็นเปียโนยี่ห้อแชลเลิ่นอีกเลยจนปี 1996 บรอดวู๊ดได้แตกลิขสิทธิ์ของเปียโนบาร์แรทแอนด์ร๊อบบินสันและแชลเลิ่นให้กับโรงงานมิวสิคัลโพรดักซ์ของมาเลเซียเพื่อผลิตเปียโนแชลเลิ่นออกมาอีกครั้งหนึ่ง  นั่นคือเรื่องราวของแชลเลิ่นที่ผมหาได้มากที่สุดจากกูเกิล  ในอดีตประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีโรงงานประกอบเปียโนนับร้อยแห่งในลอนดอน  ถือว่าเป็นแหล่งผลิตเปียโนที่ใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว   ผู้ผลิตแต่ละรายทะยอยเลิกกิจการและถูกซื้อไปเป็นต่อๆ และสูญหายไปในเวลาต่อมา  ผมได้ลองพยายามรวบรวมจากแหล่งอื่นๆเท่าที่มีข้อมูลพอจะทำให้เห็นภาพของเปียโนยี่ห้อนี้ได้มากขึ้นดังนี้

 

ผู้ผลิตเปียโนมักไม่ได้ทำทุกชิ้นส่วนเอง  แต่มีการซื้อชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบ  แชลเลิ่นก็เช่นกัน  มีบันทึกว่าแชลเลิ่นได้ซื้อลิ่มมาจากบริษัทเชินสโตน Shenstone & Co. เพื่อประกอบเปียโนของตนเองในราวปี 1870  แปดปีหลังจากนั้น เปียโนชนิดอัพไรท์ของแชลเลิ่นแอนด์ซันก็ปรากฏอยู่ใน Art Journal Catalogue   ต่อมาในปี 1928 ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ผลิตเปียโนบรอดวู๊ดและแชลเลิ่นรุ่งเรืองถึงที่สุด  ทั้งสองได้ร่วมมือกันออกแบบแกรนเปียโนที่ติดตั้ง agraffes ซึ่งเป็นหมุดสำหรับร้อยสายตรึงไว้กับบริดจ์โดยเว้นในบริเวณสายที่เป็นเทรเบิล  ผลการคิดค้นดังกล่าวได้จดเป้นลิขสิทธิ์ร่วมกัน

 

ปี 1935 แชลเลิ่นได้สร้างเปียโนแกรนด์ตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นเพื่อเป็นการสมโภชน์ปีอภิเษกสมรสของพระเจ้าจอร์จที่ห้าและพระราชินีแมรี่  ช่างจูนเปียโนได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1940 ว่า

 

เป็นแกรนด์เปียโนที่ใหญ่ที่สุดของโลก  ผลิตโดย ชาร์ล เอช แชลเลิ่นแอนด์ซัน  เครื่องดนตรีชิ้นนี้จัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นเกียรติแด่การอภิเษกสมรสของพระเจ้าจอร์จที่ห้าและพระราชินีแมรี่ และเป็นแกรนด็เปียโนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นความประทับใจของโลกดนตรีและความสำเร็จทางวิศวกรรม  เปียโนมีความยาวสิบเอ็ดฟุตแปดนิ้ว  มีน้ำหนัก 1 ¼ ตัน และมีแรงขึงเส้นลวดมากกว่า 30 ตัน  พาะโครงเหล็กหนัก หกร้อยห้าสิบกิโ  สายเบสสายที่ยาวที่สุดมีความยาวเก้าฟุตสิบเอ็ดนิ้ว

 

การทดสอบและการประกอบเครื่องใช้เวลามากกว่า 12 เดือน  ใช้งบปรมาณไปกว่า 600 ปอนด์  จากการคำนวณทำให้มีมิติรูปทรงและความแข็งแรงที่สามารถเล่นได้ดีกว่าเปียดนทั่วๆไป  ผลงานทางด้านวิศวกรรมการผลิตเปียโนหลังนี้ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศอังกฤษเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหรรมด้านนี้  เปียโนหลังนี้ได้นำออกแสดงครั้งแรกในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมของอังกฤษในปี 1935 ซึ่งพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินมาชม  บิลลี่แมเยอร์ Billy Mayerl ได้เล่นเปียโนถวาย  และภายหลังเซอร์วอลฟอร์ด เดวี่ส์  Sir Walford Davies อาจารย์ที่คิงส์มิวสิคก็ได้ลองเล่นเปียโนหลังนี้เช่นกัน เป็นเครื่องดนตรีชิ้นสุดยอด  มีเสียงเบสที่เหมือนกับเสียงของออร์แกน น้ำหนักมือและโทนเสียงก็เช่นเดียวกับของเปียโนที่ดีที่สุดที่ผมเคยเล่น นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่  มันได้ถูกนำมาเล่นสดทางวิทยุกระจายเสียงหลายครั้ง

 

ปี 1936 สถานีวิทยุ BBC ได้จัดการทดสอบแกรนด์เปียโนโดยแบ่งเป็นสามรุ่น  เปียโนของโบเซนฮอฟ Bosendorfer ได้รับรางวัลชนะเลิศสำหรับรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก  ส่วนเปียโนของแชลเลิ่นและสไตน์เวย์ Steinway ได้รับรางวัลสำหรับรุ่นกลาง 7’ 6” ถึง 9’ ร่วมกัน   ผมคาดเดาเอาเองว่าด้วยเหตุที่แชลเลิ่นได้รับรางวัลดังกล่าวและเป็นเปียโนของผู้ผลิตชาวอังกฤษ แชลเลิ่นจึงได้รับเลือกเป็นเปียโนที่ใช้บรรเลงเพื่อออกอากาศของสถานี BBC ในช่วงปี 30’s

ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา เราไม่ได้เห็นเปียโนของแชลเลิ่นออกมาให้เห็นอีกเลย  เราจะเห็นเปียโนแชลเลิ่นทั้งที่เป็นอัพไรท์ขนาด 118 ซม. และเบบี้แกรนด์ในตลาดเปียโนเก่า และแน่นอนที่ตลาดเกือบทั้งหมดกระจายตัวอยู่ในเกาะอังกฤษ เป็นเปียโนที่ผลิตในต้นปี 1900 เศษๆเป็นส่วนใหญ่

 

ปี 1990 ชื่อของแชลเลิ่นปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อบรอดวู๊ดแตกลิขสิทธิ์ของแชลเลิ่นเป็นของบริษัท Chas H. Challen (1804) และมอบลิขสิทธิ์ให้โรงงานประกอบเปียโนในมาเลเซียเป็นผู้ผลิต  โดยที่ส่วนของโครงโลหะ, แอคชั่น และลิ่มเปียโนส่งมาจากสหราชอาณาจักร รวมทั้งสักหลาดหัวค้อนของ Royal George Mill  แอคชั่นของเปียโนนั้นทำจากโรงงานแลงเกอร์ Langer ในนอตติงแงม (เป็นเทคโนโลยีเดียวกับของชวานเดอร์ Schwander action)   และยังได้นักออกแบบชาวเยอรมันชื่อ เดท์ตริก ดอทเซค  Dietrick Dozek มาออกแบบ pinblock/wrest plank และสเกลใหม่ เพื่อผลิตเปียโนชนิดอัพไรท์และชนิดแกรนด์ออกมาหลายรุ่น  เปียโนทั้งหมดได้รับมาตรฐานของเกาหลี เยอรมันและญี่ปุ่น (KS, GD และ JIS) และส่งออกไปขายในยุโรป

 

โลโก้ของแชลเลิ่นเปลี่ยนมาหลายครั้ง ได้แก่ Challen & Son, CHALLEN มาเป็น Challen LONDON 1804 ซึ่งเป็นแบบล่าสุด  นอกจากนี้แชลเลิ่นยังได้ตราพระบรมราชานุญาตติดอยู่บนเฟรม  ผมพยายามสืบเสาะว่าตรานี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใด พระราชินีนาถวิคตอเรีย, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่7, พระเจ้าจอร์จที่4, หรือพระเจ้าจอร์จที่ 5  แต่ผมหาคำตอบไม่ได้  ผมเจอในเวปไซต์แห่งหนึ่ง เขาสันนิษฐานว่าไม่น่าจะเป็นตราพระบรมราชานุญาตของอังกฤษ แต่อาจเป็นตราของกษัตริย์สเปน และไม่ใช่ตราที่ให้กับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งแต่เป็นตราที่พระราชทานให้กับผู้ผลิต  ซึ่งฟังแล้วชอบกลอยู่ เรื่องนี้ยังต้องค้นหากันต่อไปอีก

 

ที่มา:

http://www.uk-piano.org/history/history_1.html

http://www.uk-piano.org/piano-gen/pianos-in-paris-exhibitions.html

http://www.uk-piano.org/piano-forums/piano424.html

 

bigpiano.gif
World's biggest grand piano

Physics of the piano
 

เปียโนมาตรฐานในปัจจุบันประกอบด้วยย 88 คีย์ คิดเป็น 7 ¼ octaves   ฟิสิคซ์ของเปียโนเกิดจากกลไกของค้อนที่เคาะลงบนสายทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายขึ้น  แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวส่งผ่านบริดจ์ลงไปที่แผ่นซาวน์บอรืด  จากซาวน์บอร์ดอากาศจะถูกสั่นสะเทือนออกไปยังผู้ฟัง  ค้อนนั้นเป็นชิ้นส่วนของไม้ที่ห่อหุ้มด้วยสักกะหลาดที่ทำจากขนแกะ  ความหนาแน่นของสักหลาดเป็นปัจจัยที่มีต่อคุณภาพของเสียงที่เปล่งออกมา  เมื่อดีดสายแล้ว การสั่นสะเทือนจะชลอลงจนหยุดสั่นตามลำดับ การหยุดเสียงทำได้ด้วยการปล่อยมือจากคีย์ทำให้แดมเปอร์ซึ่งเป็นสักกะหลาดกดทับสายเสียงไว้ทำให้สายหยุดสั่น และตัดแรงสั่นสะเทือนทั้งหมดลง  การกดลิ่มลงไปให้ค้อนเคาะสายเป็นการยกแดมเปอร์ออกให้พ้นสายเปียโนทำให้สายสั่นสะเทือนได้อย่างอิสระตราบเท่าที่มือยังกดลิ่มคาไว้  นอกจากนี้การเหยียบพีเดิลด้านขวามือหรือ damping pedal ก็เป็นการยกส่วนของแดมเปอร์ออกจากสายเสียงด้วยเช่นกัน

 

เสียงของเปียโนของโน๊ตคู่เสียงที่ต่างกันหนึ่ง octave จะมีความถี่ของโน๊ตตัวบนเป็นเท่าตัวของโน๊ตตัวล่างเสมอ  สำหรับสายเสียงในกลุ่มเบสเป็นสายที่หุ้มพันด้วยเส้นทองแดงทำให้สายมีการสั่นสะเทือนที่ช้ากว่าและให้เสียงต่ำ  การดีดสายพร้อมๆกันมากกว่าหนึ่งสายจะให้เสียงที่อบอุ่น   โทนเสียงของเปียโนนั้นจัดเป็น inharmonic สำหรับ partials ที่เกิดขึ้นจะมีความดังที่ไม่เท่ากันและยังจางหายไปในอัตราที่ไม่เท่ากัน  นอกจากนี้ ความแข็งของสายเปียโนมีผลต่อเสียงที่เปล่งออกมาด้วย

 

เสียงจะออกจากแหล่งกำเนิดเสียงเป็นคลื่นกระจายออกในทุกทิศทาง คลื่นที่กระจายออกไปประกอบด้วยด้วยส่วนที่เคลื่นอที่ไปข้างหน้า (outward) เรียกว่า condensation หรือ compression และคลื่นส่วนที่เคลื่อนเข้า (inward) หาแหล่งกำเนิด เรียกว่า rarefaction  การที่คลื่นเสียงจะเคลื่อนไปได้ต้องอาศัยการสั่นสะเทือนของโมเลกุลในตัวกลาง (medium) ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งชนิดที่เป็นของแข็ง, ของเหลว และอากาศ  ด้วยเหตุนี้เสียงจึเดินทางผ่านสูญญากาศไม่ได้

 

เมื่อวัดระยะของลูกคลื่นหนึ่งลูกคือตั้งแต่ช่วงที่เป็น condensation จนสิ้นสุด rarefaction จะเป็นส่วนที่เราเรียกว่าความยาวคลื่น (wavelength)  และความสูงของคลื่นแต่ละลูกเราเรียกว่า แอมปลิจูด (amplitude)  ยิ่งแอมปลิจูดสูงเท่าใดก็ยิ่งมีเสียงดังมากเท่านั้น   หากคลื่นที่สั่นสะเทือนออกไปมีลูกคลื่นมากแสดงว่าคลื่นนั้นมีความถี่มาก จะมากจะน้อยเรากำหนดไว้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ  ดังนั้น ความถี่ (frequency) ของเสียง จะเป็นจำนวนของทั้ง condensations และ rarefactions ที่เกิดขึ้นในชั่วเวลาหนึ่งวินาที  เราใช้หน่วยของความถี่เป็นเฮิร์ทซ์ (hertz, Hz)  ซึ่งเท่ากับหนึ่งรอบต่อวินาที  โดยปกติหูของมนุษย์สามารถรับฟังความถี่ของเสียงในช่วง 20-20,000 Hz  ส่วนคำว่าพิทช์ (pitch) นั้นถูกกำหนดด้วยความถี่ ยิ่งมีความถี่สูง พิทช์ก็สูงไปด้วย  ธรรมชาติจึงได้อาศัยการรับรู้ของประสาทหูโดยอาศัยพิทช์มาจำแนกความถี่ของเสียงที่ได้ยิน

 

สายของเปียโนนั้นถูกตรึงไว้ที่ปลายทั้งสองข้าง  เมื่อดีดจะเกิด node ที่ปลายทั้งสองข้างและมี anti-node อยู่ตรงกลางในการสั่นครั้งแรกเป็น standing wave  และเกิดเป็นคลื่นแบบฮาร์โมนิค (harmonic) ในรอบการสั่นสะเทือนถัดๆไป เป็น transverse wave

ความเป็นมาของเปียโน

มาดูเขาสร้างเปียโนกัน...

section_technical.gif

fac2.jpg

โครงเปียโน Frame  เหล็กที่นำมาทำโครงเปียโน เป็นเหล็กชนิดที่เรียกว่า gray cast iron ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างเหล็ก คาร์บอน ซิลิคอนและแมงกานีส  ในการหล่อโครง จะนำเหล็กไปเผาให้หลอมแดงที่อุณหภูมิประมาณ 1,600 องศาเซลเซียส    ในการระหว่างการเผาจะควบคุมให้เนื้อเหล็กให้มีธาตุคาร์บอน 2.5-4.0%  ซิลิคอน 1.0-3.0%  และมังกานีส 0.1%    เมื่อนำเหล็กหลอมไปเทลงในแม่พิมพ์ ปล่อยให้เหล็กเย็นลงช้าๆอย่างสม่ำเสมอ คาร์บอนในเนื้อเหล็กจะตกซ้อนเป็นเกล็ดกราไฟต์ในอันยรูปต่างๆได้ถึง 7 แบบ    ทำให้เหล็กที่ได้มีคุณสมบัติทนทานต่อแรงดึงสูงได้ไม่น้อยกว่า 1,400 กก.ต่อตร.ซม.    ประมาณว่าโครงเหล็กของเปียโนหลังหนึ่งต้องสามารถรองรับแรงดึงของเส้นลวดไม่น้อยกว่า 18 ตัน  และประมาณ 30ตัน สำหรับแกรนด์เปียโนขนาด 9 ฟุต  ดังนั้นโครงจึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังที่รองรับแรงดึงทั้งหมด  ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบให้โครงเหล็กมีการกระจายของน้ำหนักที่ดี ในขณะเดียวกันต้องสามารถตอบสนองให้ได้คูณภาพเสียงตามที่ต้องการด้วย   
 
ในส่วนสายเปียโนที่จะขึงบนโครงโลหะนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งเป็นส่วนที่ให้เสียงแหลมหรือเทรบเบิล  อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ให้เสียงทุ้มหรือเบส   เนื่องจากสายที่ให้เสียงเบสเป็นสายที่ยาวกว่าเสียงแหลม  ดังนั้นในการออกแบบโครงเปียโน จึงนิยมออกแบบให้มีการไขว้สาย (overstrung)  ยิ่งเปียโนอัพไรท์สูงเท่าใด สายเบสก็ยาวได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  เปียโนอัพไรท์สูง 51 นิ้ว  สามารถให้สายเบสได้ยาวถึง 47 นิ้ว   ในขณะที่แกรนด์เปียโนขนาดซาวด์บอร์ดเท่ากันสามารถให้สายเบสที่ยาวเพิ่มขึ้น 3-4 นิ้ว  (ดูภาพเปรียบเทียบ)   กลุ่มสายเสียงเบสจะอยู่ทางซ้ายมือพาดทแยงไปทางขวามือ และกลุ่มสายที่ให้เสียงแหลมจะอยู่ทางขวามือพาดทแยงไปทางซ้าย  เป็นพิณสองอันที่ว้างไขว้ซ้อนกันอยู่   ด้วยเหตุนี้การทำโครงเปียโนจึงเป็นทั้งการออกแบบและเป็นทั้งวิศวกรรมการหล่อโลหะเพื่อให้ได้โครงที่แข็งแรง

iwata-full.jpg

 การหล่อโครงเหล็กในสมัยโบราณ จะหล่อในเบ้าทราย (sand casting)   โดยวางกะบะทรายด้านบนและด้านล่างประกบกับโครงแบบ  และอัดทรายชื้นให้แน่น     พร้อมทั้งเจาะให้มีช่องเทเหล็กร้อนลงไปได้   หลังจากนั้นจะเติมน้ำยาหลอมทรายและอัดกาซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปให้เป็นเบ้าแข็งขึ้นรูป   เมื่อแยกกะบะทรายออก และนำตัวโครงออก และนำกะบะมาประกบกันใหม่  จะได้เบ้ากลวงที่พร้อมจะเทเหล็กที่หลอมลงไปให้เต็มช่อง  วิธีการหล่อแบบนี้เรียกว่า sand casting   เหล็กหลอมที่เทจนเต็มเบ้าแล้วมักจะยุบตัวลงเล็กน้อยเมื่อเหล็กเย็นและแข็งตัว  การพัฒนาเบ้าหลอมในยุคต่อมาได้มีการอัดโฟมชนิดโพลีสไตรีนลงไปผสมกับเนื้อทราย  และเพื่อให้เบ้าหลอมสามารถใช้งานได้นานในปัจจุบันมีการนำโลหะมาทำเบ้า โดยที่ผิวด้านในจะเคลือบด้วยทรายไว้     เขาจะดูดอากาศออก หรือลดความดันในเบ้าลง เพื่อให้เหล็กหลอมไหลเข้าจนเต็มเบ้า  โดยวิธีนี้ทำให้ได้เนื้อเหล็กเต็มชดเชยส่วนที่ยุบตัวไปเมื่อเย็นลง โครงเหล็กหล่อจึงแข็งแรง เรียกวิธีการหล่อแบบนี้ว่า vacuum permanent mold casting    ส่วนโครงเหล็กของเปียโนสมัยใหม่ใช้วิธีการหล่อเหล็กแบบนี้กันหมดแล้ว ผิวโลหะที่ได้จะเป็นสีเทาเข้ม ผิวหยาบเพราะเม็ดทรายที่เคลือบเบ้า

fac5.jpg

ในภาพแสดงการหล่อโครงเปียโนยามาฮาที่โรงงานอีวาตะ  โครงที่หล่อเสร็จและแข็งตัวแล้วจะนำมาผึ่งไว้  และนำไปเจาะรูเกือบห้าร้อยรูเพื่อร้อยสาย   แสดงการใช้สว่านเจาะของโรงงานเปียโนมิวสิคัลโปรดักซ์ในมาเลเซีย  ก่อนจะนำไปเคลือบสีป้องกันสนิม

spruce.jpg
Spruce tree

 
 
 
ไม้ทำเปียโน และส่วนของซาวด์บอร์ด
 
ไม้สน Spruce หรือ สปรูซ    มาจากภาษาโปแลนด์  z Prus  แปลว่า  from Prussia  หรือ มาจากปรัสเซีย  (ส่วนของอาณาจักรออสเตรีย-เยอรมัน)    เป็นต้นสนที่ขึ้นในแถบตอนเหนือของยุโรป  จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี  เจริญเติบโตเหนือระดับน้ำทะเล 1,000-1,400 เมตร  ขนาดต้นโตเต็มที่สูงตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป จนบางต้นสูงกว่า 90 เมตร  จัดเป็นพืชที่มีใบเขียวสดตลอดปี      ต้นนิยมตัดมาทำต้นคริสตมาส  เนื้อไม้นำไปใช้ในงานก่อสร้าง  เป็นส่วนประกอบไม้บนเครื่องบิน ทำเครื่องดนตรี  เยื่อนำไปทำกระดาษ ใบและกิ่งนำไปหมักเบียร์    เนื่องจากไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงนิยมนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ  มีอยู่ประมาณ 35 สายพันธ์  สายพันธ์ที่นิยมนำมาทำเปียโนเป็นสายพันธ์ที่ให้เนื้อไม้แข็งแรง วงปีแน่น ได้แก่ red spruce, sitka spruce  โดยตัดส่วนที่ดีที่สุดมาทำซาวด์บอร์ด (sound board) ส่วนไม้ที่เหลือจะนำไปทำเสาหลัง, ลิ่มกด

quartersawnsketchfigure1.jpg

 เมเปิล  เป็นไม้ยืนต้นในเขตหนาว  ใบเป็นรูปห้าแฉก  น้ำจากต้นสามารถให้น้ำตาลที่มีรสหวาน  เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง หนัก ใช้ในการก่อสร้าง การทำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการความแข็งแรง  เนื้อไม่มีสีอ่อน นวลตา ไม้เมเปิลที่เหมาะกับการนำมาทำเปียโนเป็นชนิดที่เรียกว่า ฮาร์ดเมเปิล หรือ ร็อคเมเปิล   นิยมนำไม้เมเปิลไปเป็นส่วนประกอบของ bridge, pinblock ส่วนของแอคชั่น, โครงตู้

 ไม้ชนิดอื่นๆที่นำมาทำเปียโน ได้แก่ ไม้ฮอร์นบีม (hornbeam) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง คงทน มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮาร์ดเมเปิล  นิยมนำมาทำด้ามค้อน และ bridge caps   ส่วนไม้มะฮอกกานี เป็นไม้ที่มีลายไม้งดงาม น้ำหนักเบา  เมื่อนำมาประกอบตู้เปียโนจะให้เสียงพิเศษจำเพาะตัว

 วิธีการเลื่อยให้ได้แผ่นไม้มาทำซาวด์บอร์ดและส่วนต่างๆของเปียโน นิยมใช้การเลื่อยตัดแบบ quarter-sawn หรือ edge-grain  โดยการนำมาเลื่อยตามรอบเส้นผ่าศูนย์กลางผ่าตามยาวของต้นเป็นสี่ท่อนดังรูป  แล้วจึงเลื่อยตัดเป็นแผ่นบางๆ โดยวิธีนี้จะทำให้ได้ไม้ที่มีวงปีเรียงชิดติดกันเป็นลายเรียบสวยงามตลอดทั้งท่อนไปในทางเดียวกัน ไม้ที่ตัดโดยวิธีนี้จะได้แผ่นเรียบตรงและแข็งแรงกว่าการตัดแบบปกติหรือ plain sawn  ทั้งยังทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ

klin.jpg
Wood kilning process

ribs.jpg
Ribs

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โรงเลื่อยจะนำไม้สนที่นำมาทำแผ่นซาวด์บอร์ดจะนำมาวางให้แห้งตามธรรมชาติ  และจะคัดเลือกเฉพาะไม้ที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปบ่ม (kiln dried) ต่อในโรงบ่ม    ลักษณะไม้สนที่ดีจะต้องเป็นไม้ที่ยืดหยุ่นได้ มีวงปีที่สม่ำเสมอ โดยแต่ละชั้นหนา 0.5-1.0 มม.  เมื่อตัดต้นมาจะนำมาผ่าจามในแนวเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นสี่ชิ้น  นำมาเลื่อยตัดเป็นแผ่นตามยาว แต่ละแผ่นมีขนาด 8-12 ชม. และฝานให้แต่ละแผ่นหนาเพียง 12 มม.    และบ่มให้ไม้แห้งเพื่อให้หดตัวเต็มที่      หลังจากนั้นจะตัดไม้ให้ได้หน้ากว้างระหว่าง 6-9 มม.  นำไม้มาอัดเรียงต่อกันเป็นผืนซาวด์บอร์ด    และเพื่อให้ผืนซาวด์บอร์ดยึดติดกัน  ช่างจะนำท่อนไม้สนมาประกบติดและอัดกาววางในแนวฉากกับซาวด์บอร์ด เป็นระยะๆจนเต็มผืน  ไม้ที่ยึดแผ่นซาวด์บอร์ดเข้าด้วยกันนี้เรียกว่า ribs   แผ่นซาวด์บอร์ดที่ตีแนว ribs ไว้จะเป็นด้านที่หันออกด้านนอก  ส่วนด้านใน ช่างจะเอาไม้เมเปิลซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งมาดัดโค้งเป็นรูปพิณ ติดกาวทำเป็นไม้หมอนหรือ bridge เพื่อขึงเส้นลวด    ด้วยเหตุนี้ ไม้สนการเลือกไม้สนมาทำซาวด์บอร์ดต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ  เนื่องจากต้องฝานให้บาง เนื้อไม้ต้องแข็งแรงพอที่จะรับแรงดึงของลวดไม่น้อยกว่า 1,000 ปอนด์ (2,200 กก.)  ในขณะเดียวกันต้องไวต่อการตอบสนองของการสั่นสะเทือนของสายตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง และผลักอากาศออกไปเป็นคลื่นเสียงได้ชัดและไกล 

craftsmanship.jpg
Laminating of sound board

 

ซาวด์บอร์ดถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเปียโน เป็นส่วนที่มีไดนามิคหรือจลน์มากที่สุด  การที่ซาวด์บอร์ดสามารถสั่นสะเทือนได้อย่างอิสระจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก  ช่างทำเปียโนแต่ละโรงงานจะมีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตแผ่นซาวด์บอร์ดที่แตกต่างกัน  สำหรับการผลิตซาวด์บอรืดของแกรนด์เปียโนจะต่างออกไปจากเปียโนทรงอัพไรท์  ซาวด์บอร์ดของเปียโนอัพไรท์จะราบเสมอกันทั้งแผ่น  แต่แกรนด์เปียโนในบางโรงงานจะผลิตให้เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของซาวด์บอร์ดไม่สม่ำเสมอเท่ากันตลอดแผ่น เนื่องจาก ribs ทำหน้าที่ทั้งยึดชิ้นไม้ซาวด์บอร์ดเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางของพลังงานเสียงที่จะวิ่งอยู่บนแผ่นด้วย  การปรับให้ส่วนริบส์มีความโค้งทำให้แผ่นซาวด์บอร์ดของแกรนด์เปียโนป่องโค้งเป็นโดม   ประกอบกับการวางบริดจ์โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ตอนกลางตกถึงพื้นบอร์ด แต่ให้ส่วนตรงให้ปลายทั้งสองข้างสัมผัสกับซาวด์บอร์ดแทน  ด้วยเหตุนี้ซาด์บอร์ดของแกรนด์เปียโนสั่นสะเทือนได้อย่างอิสระเหมือนไดอะแฟรมของลำโพง  โทนเสียงที่กระด้างของช่วงเสียงเบส และเสียงที่เบาแหลมของส่วนเทรเบิล จึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดังชัดกว่า

 เปียโนจะหันซาวด์บอร์ดด้านที่มีริบส์ออก และด้านที่มีบริดจ์ประกบอยู่เข้าด้านใน  บริดจ์จะเป็นตัวรับการสั่นสะเทือนของสายเปียโนถ่ายทอดสู่ซาวด์บอร์ด  ตำแหน่งที่วางบริดจ์ลงไปมีความสำคัญต่อโทนเสียงของเปียโนหลังนั้น ดังนั้นช่างที่วางบริดจ์จึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญ  สัมผัสหน้าบริดจ์ต้องแนบสนิทกับแผ่นซาวด์บอร์ดด้วย  จากภาพที่ช่างกำลังติดตั้งบริดจ์ จะเห็นว่าบริดจ์สัมผัสกับซาวด์บอร์ดเป็นระยะๆ  ส่วนอีกภาพหนึ่งแสดงสมดุลย์ของเสียงที่กระจายออกจากแผ่นซาวด์บอร์ดของแกรนด์เปียโน ให้เห้นว่าการกระจายแบบ aymmetry จะให้เสียงเบสและช่วงเสียงแหลมที่คมชัดกว่าแบบ symmetry

223_033.jpg
Bridge notching

symetry1.jpg
Asymetric balance of sound board

เนื่องจากบริดจ์ในช่วงเสียงเบส bass bridge สั้นกว่าบริดจ์ในช่วงเสียงแหลม tenor bridge  ไม้ทำเบสบริดจ์จึงสั้น ใช้ไม้เนื้อแข็งที่มีเสี้ยนหันไปในทิศทางเดียวกัน  ส่วนเทนเนอร์บริดจ์จะยาวกว่า แถมมีรูปคดงอเป็นตัวยู ต้องใช้ไม้เมเปิลสลับกับชั้นไม้มะฮอกกะนี ประมาณ 10-13 แผ่น มาอัดเป็นแท่ง ก่อนจะดัดให้โค้งงอ และนำมาต่อกันเป็นท่อนๆตรงปลายไม้ เรียกการเชื่อมต่อแบบนี้ว่า vertical laminating 

beams.jpg
Rim and beam of a Grand

stretching.jpg
Wood stretching

 
การขึ้นโครงเปียโน
 
การขึ้นโครงแกรนด์เปียโนมีความยุ่งยากมากกว่าชนิดอัพไรท์  ช่างจะตั้งโครงขอบ  ขอบในจะเป็นที่วางแผ่นซาวด์บอร์ด และรองรับน้ำหนักของโครงเหล็กและแรงดึงสายเปียโน  ส่วนขอบนอกรองรับโครงส่วนที่เป็นตู้ซึ่งทำหน้าที่สะท้อนเสียงกลับเข้ามาในเปียโน   ดังนั้นขอบต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ จึงผลิตจากไม้เนื้อแข็ง  มีส่วนของบีม (beam) ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังยึดโครงขอบไว้ด้วยกัน  และต้องแข็งแรงพอที่จะยึดโครงเหล้กหนัก 340 ปอนด์ หรือ ประมาณ 750 กิโลกรัมได้ ส่วนของของบีมในแกรนด์เปียโนจึงเทียบเท่ากับแบคโพสต์ (backpost) ของเปียโนอัพไรท์   การประกอบชิ้นบีมเข้ากับขอบในจึงต้องใช้ทั้งเดือย กาวและสกรูเพื่อยึดให้โครงทั้งหมดอยู่ด้วยกัน  กาวที่นำมาอัดจะเป็นกาวชนิดพิเศษซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำ 

 ในการขึ้นรูปตู้  ไม้ที่นำมาใช้จะเลื่อยและนำมายืดให้ได้ระนาบเพื่อทำส่วนข้างและฝา  แต่สำหรับตู้ของแกรนด์ในส่วนที่โค้งนั้น ช่างจะนำไม้แผ่นยาวมาทากาวและอัดซ้อนกันด้วยแรงอัดนิวเมติก (pneumatic) เพื่อให้สนิทเสมือนเป็นไม้แผ่นเดียวกัน  จากรูปข้างล่างเมื่อประกบouter-rim เข้ากับ inner-rim แล้วช่างจะเอาโครงเหล็กที่วางอยู่ที่พื้นเข้าประกบแล้วล็อคด้วยระแจ ผนึกเข้าด้วยเดือย กาว และสกรู  ช่างจะใช้แม่แรงและประแจจับไว้จนกว่าการยึดส่วนต่างๆเข้าด้วยกันจะเสร็จสิ้น   เมื่อได้ส่วนของตู้แล้วช่างจึงจะนำเอาบีมเข้ามาต่อดังรูปข้างล่าง

 

outrim.jpg
Outer-rim laminating

beamsetting.jpg
Beam setting up

upright_action.jpg
Drawing of an upright action

เปียโนแอคชั่น

 

เปียโนแต่ละยี่ห้อให้ความรู้สึกต่อน้ำหนักมือที่ลงไปต่างกัน  ภาษานักเปียโนเรียกว่าทัชชิง (touching)  เปียโนบางยี่ห้อไวต่อการตอบสนองต่อแรงกดมาก ออกแรงเพียงเล็กน้อยก็สามารถเปล่งเสียงได้  แต่เปียโนบางยี่ห้อกลับมีทัชชิงที่หนัก ต้องออกแรงมากขึ้น  ทัชชิงของเปียโนจึงขึ้นกับกลไกการทำงานภายในหรือ แอคชันของเปียโนนั่นเอง  เมื่อกดคีย์หรือลิ่มเปียโน  ตัวลิ่มจะทำหน้าที่เป็นคานงัดเอาชิ้นส่วนแอคชั่นบางชิ้นให้ขยับขึ้น และส่งผลให้กลไกอื่นๆขยับ ทำให้หัวค้อนเคาะลงบนสายที่ขึงไว้และดีดกลับออกมาเกิดเป็นเสียง   และในขณะเดียวกันจะมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า แดมเปอร์ (damper) จะยกตัวออกจากสัมผัสกับสายเปียโนเพื่อให้ลวดสั่นได้อย่างอิสระ เกิดเสียงที่กังวานนาน    เมื่อเราปล่อยมือจากลิ่มเปียโน  กลไกต่างๆจะกลับเข้าที่และดึงหัวค้อนที่ยกค้างอยู่กลับเข้าแถว ในขณะเดียวกันแดมเปอร์จะเคลื่อนกลับเข้าประกบกับเส้นลวด ทำให้สายหยุดสั่นสะเทือน ผลคือหยุดเสียง   หมายเหตุ: การเหยียบพีเดิล (pedal) เพื่อลากเสียง เป็นการยกแดมเปอร์ให้ลอยขึ้น

 

ช่างทำเปียโนแต่ละโรงงานจะออกแบบแอคชั่นเพื่อให้ตอบสนองต่อแรงที่นิ้วกดลงไป  ต้องมีความแข็งแรงที่จะรองรับน้ำหนักมือเมื่อเล่นอย่างหนักหน่วง และต้องไวพอที่จะตอบสนองเมื่อต้องการเสียงที่เบาที่สุด  แอคชั่นจึงเป็นส่วนถ่ายทอดอารมณ์ผ่านน้ำหนักมือของผู้เล่น  การออกแบบกลไกการทำงานของแอคชั่นจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อให้แอคชั่นสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่น  แอคชั่นที่ดีจึงต้องไวและสามารถส่งผ่านน้ำหนักมือทุกรายละเอียดของผู้เล่นได้ครบถ้วน และให้ความดังของเสียงที่สม่ำเสมอในทุกลิ่มที่กดลงไปด้วยแรงที่เท่ากัน   ด้วยเหตุนี้ แอคชั่นของเปียโนจึงสร้างเอกลักษณ์ทางเสียงให้กับเปียโนยี่ห้อนั้นๆ  เช่น Erard action  อีราดแอคชั่น เป็นแอคชั่นที่มีชื่อเสียงของเปียโนยี่ห้อ Erard เป็นเปียโนคีตกวีเอกฟรานซ์ ลิสต์โปรดปรานเป็นอย่างมากนั่นเอง

 

การวางแอคชั่นของเปียโนแบบตั้ง จะวางหัวค้อนให้ชี้ขึ้นด้านบน  หัวค้อนจะเคาะเส้นลวดที่ขึงไว้ในแนวตั้ง    ส่วนแอคชั่นของแกรนด์จะเป็นการวางหัวค้อนไว้ใต้เส้นลวดที่ขึงไว้ในแนวนอนขนานกับพื้น   เมื่อค้อนดีดเส้นลวดแล้วจะตกกลับลงไปด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก  ไม่มีกลไกการชักกลับเหมือนแอคชั่นแบบตั้ง  นอกจากนี้ ในแอคชั่นของแกรนด์ยังมีคานอันหนึ่ง (หากดูในภาพเคลื่อนไหวด้านล่าง จะเห็นคานที่อยู่ใต้ด้ามค้อน ลักษณะเหมือนกระดานหก) คอยดันค้อนให้ดีดกลับขึ้นไป  คานไม้แบบนี้ออกแบบโดยเซบัสเตียง อีราด ทำให้แอคชั่นแบบแกรนด์สามารถตอบสนองการเล่นแบบ staccato และ trill ได้ดี  สามารถตอบสนองเล่นโน๊ตตัวเขบ็จหลายชั้นซ้ำๆกันได้ดีกว่าแอคชั่นแบบตั้ง  เรียกแอคชั่นแบบของอีราดว่า double escapement action ซึ่งต่อมาเป็นต้นแบบของแกรนด์เปียโนทุกชนิด    ดังนั้น แอคชั่นของเปียโนแบบแกรนด์จึงมีข้อได้เปรียบกว่าแอคชั่นแบบตั้ง คือชิ้นส่วนของกลไกการดีดและการปล่อยกลับน้อยชิ้นกว่า  หัวค้อนตกลงมาเร็วกว่า และพร้อมจะดีดกลับขึ้นไปใหม่ได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่า ด้วยเหตุนี้แอคชั่นของแกรนด์เปียโนจึงถ่ายทอดน้ำหนักมือ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วกว่าแอคชั่นของเปียโนแบบตั้ง   ชิ้นส่วนของกลไกต่างๆทำมาจากไม้สนและไมเมเปิล และมีสักหลาดหนุนเพื่อลดเสียงที่เกิดจากชิ้นส่วนกระทบกัน  อาจมีชิ้นส่วนบางชิ้นเล็กๆที่เป็นโลหะ ได้แก่หมุด คอยล์สปริง และมีบางชิ้นที่เป็นหนังสัตว์   เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่ดูดและคายความชื้น  ทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นไม้ยืดและหดตัวได้ตามฤดูกาลและย่อมส่งผลต่อการถ่ายทอดเสียง  แม้ว่าจะมีผู้พยายามใช้อัลลอยและวัสดุสังเคราะห์อื่นๆมาทดแทนไม้เพื่อลดการยืดและหดตัวของชิ้นส่วนต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับกันเท่าที่ควร  ยกเว้นส่วนของราง (action rail) ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังรองรับชิ้นส่วนต่างๆของกลไกเข้าด้วยกันที่ได้เปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมแทนไม้แบบดั้งเดิม   การใช้รางอลูมิเนียมแทนรางไม้ทำให้ปัญหาของสกรูที่คลายออกง่ายและชิ้นส่วนอื่นที่ขยับเขยื้อนไปจากที่ตั้งที่ควรจะเป็นหมดไป

actionrail.jpg
Aluminum actionrail of the grand

bluthner_action.jpg
Grand action

ในปัจจุบันนี้ มีโรงงานผลิตแอคชั่นเพียงไม่กี่แห่ง  แม้แต่เปียโนที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าก็ไม่ได้ผลิตแอคชั่นเองอีกต่อไป  ต่างไปจ้างให้โรงงานที่ผลิตแอคชั่นโดยเฉพาะผลิตให้แทบทั้งสิ้น  การเรียกชื่อแอคชั่น นิยมเรียกตามชื่อโรงงานที่ผลิต  สำหรับแอคชั่นของเปียโนยุโรป เช่น Bechstein, Petrof และอื่นๆ ผลิตจากโรงงานเดอโต (Detoa Albrechtice s.r.o.) เป็นโรงงานผลิตของเล่นที่ทำจากไม้มาตั้งแต่ปี 1908   ในระหว่างสงครามโลก โรงงานเป็นที่ผลิตชุดทหาร กระดุมไม้ กระสุนไม้  และเริ่มสายการผลิตเปียโนแอคชั่นในปี 1950  ด้วยความชำนาญของการกลึงไม้ และแอคชั่นที่ประกอบจากโรงงานนี้เป็นที่ยอมรับของโรงงานเปียโนทั่วโลกในชื่อว่าแอคชั่นของเดอโต (Detoa action)   แอคชั่นอื่นๆที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันในระดับสุดยอด และใช้ในเปียโนที่มีชื่อเสียงได้แก่ Renner action ผลิตจากโรงงานหลุยส์ เรนเนอร์  และSchwander action  ทั้งสองแอคชั่นนี้ผลิตในเยอรมัน

 

หลุยส์ เรนเนอร์ เริ่มผลิตแอคชั่นในปี 1882 ในเมืองสตุตการ์ต  จากคนงานเพียง 35 คนเมื่อเริ่มก่อตั้ง จำนวนคนงานเพิ่มขึ้นเป็น 400 คนในปี 1920  ในปัจจุบันนี้ เรนเนอร์ขยายโรงงานที่สามที่เมืองไลพ์ซิก  ผลิตทั้งแอคชั่น และชิ้นส่วนเพื่อใช้เป็นอะหลั่ย  ประมาณว่าตั้งแต่ก่อตั้งมา เรนเนอร์ผลิตแอคชั่นไปแล้วกว่าสองล้านชุด  เฉลี่ยเป็นแอคชั่นของเปียโนแบบตั้งวันละ 90 ชุด แบบแกรนด์วันละ 25 ชุด หัวค้อนวันละ 150 ชุด (ชุดละ 88 อัน)   แอคชั่นของเรนเนอร์ใช้กับเปียโนต่อไปนี้ Steinway&Son, Schimmel, Fazioli, Bosendorfer, Zimmermann, Bluthner, August Forster, Sieler, Young Chang, Samick, Challen, Robinson, Kawai, Baldwin, etc.

keybed2.jpg
Weight balanced key

hammer.jpg
Felt hammer

ลิ่มเปียโน  ทำจากไม้สนเนื้อแข็ง (solid spruce) ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงพอที่จะรับแรงที่กดลง และสามารถใช้งานหนักได้เป็นเวลานับหลายสิบปี  ลิ่มที่ดีจะสามารถตอบสนองต่อน้ำหนักมือที่เท่ากันและให้เสียงสม่ำเสมอกันทุกลิ่ม  และเพื่อให้สามารถควบคุมน้ำหนักมือได้ง่ายโดยที่ช่วงเสียงเบสไม่หนักเกินไป และช่วงเสียงแหลมไม่ค่อยเกินไป ในการทำลิ่มจึงมีฝังโลหะในเนื้อไม้เพื่อถ่วงน้ำหนัก (weighted and balanced keys)  บนตัวลิ่มจะเคลือบด้วยวัสดุสังเคราะห์สีขาวจำพวกอะคริลิค เพื่อกันความชื้นและน้ำมันจากมือซึมลงไปในเนื้อไม้  เนื่องจากเหงื่อมักทำให้นิ้วลื่น วัสดุสังเคราะห์ที่เคลือบจึงต้องมีรูพรุน หรือมีพื้นผิวที่สากเล็กน้อย 

 

ค้อนเปียโนประกอบด้วยสามส่วน   ส่วนของไม้ด้ามค้อน  ไม้หัวค้อน และหัวสักหลาด (felt)   ไม้ด้ามค้อนมักใช้ไม้ที่มีน้ำหนักเบาเช่นไม้มะฮอกกะนี เพื่อจะได้ตอบสนองต่อการชักกกลับเข้าที่ได้ดี  ส่วนไม้หัวค้อนจะทำจากไม้เนื้อแข็งเช่นไม้ฮอร์นบีม (hornbeam) โดยมีสักหลาดหุ้มอยู่อีกชั้นหนึ่ง   สักหลาดที่หุ้มห้วค้อนทำจากขนแกะพันธ์มาริโน (marino) ที่กรอให้มีขนาดเส้น 19-23 ไมครอน และทอให้มีเนื้อแน่น เส้นใยจากขนแกะจะนำมาทอเป็นผืนและม้วนหุ้มไม้หัวค้อนเป็นชั้นๆด้วยกาวอัดจนแน่น  จะได้ท่อนหัวค้อนเหมือนแยมโรล จากนั้นจะตัดเป็นแว่นให้ได้หัวค้อนแต่ละอันก่อนที่จะไปต่อกับด้ามค้อน    สักหลาดจะผ่านกระบวนการต่างๆทางเคมีเพื่อชุบ เคลือบให้ได้ความหนาแน่นที่พอเหมาะ  สักหลาดสำหรับหัวค้อนเสียงทุ้มมีความหนาแน่น 0.36 กรัมต่อลบ.ซม.  และสำหรับเสียงแหลม 0.7 กรัมต่อลบ.ซม.   เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรองรับการใช้งานหนักได้หลายสิบปี  ในหลายโรงงานมีการทดสอบเคาะหัวค้อนกว่าสองล้านครั้งเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพเสียงที่ให้ออกมา  หัวค้อนที่ผลิตในยุโรปจะให้เสียงที่ทุ้มลึกกว่าหัวค้อนที่ผลิตในญี่ปุ่น  ทั้งนี้เพราะมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันในการผลิตนั่นเอง   

 

เอกสารอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับเปียโนแอคชั่น

http://www.rennerusa.com/LouisRennerGmbH.asp

http://www.detoa.com/index_com.html

http://www.musicteachermag.com/humblehammer.htm

http://en.wikipedia.org/wiki/Upright_piano

http://www.pianola.com/paction.htm

http://www.concertpitchpiano.com/AnimatedGrandAction.html

 

grandactionanimated.gif
This is how a grand action work.

dying.jpg

การเตรียมไม้เพื่อประกอบเป็นตู้

 

ไม้ที่นำมาประกอบเป็นตู้เปียโนเป็นไม้ที่คัดมาแล้วว่าไม่มีรอยปริแตก  เขาจะนำไม้มาย้อมสี  สีที่นิยมกันได้แก่ สีดำ สีโอ๊ค สีมะฮอกกานีและสีขาว  การคัดไม้มาทำตู้เปียโนมีรายละเอียดมากขึ้นหากเป็นการย้อมสีเพื่อโชว์ลายไม้  เมื่อผ่านการย้อมสีแล้วช่างจะเคลือบผิวไม้ด้วยแลคเกอร์  และนำไปอบแห้งเพื่อเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น    แผ่นไม้จะถูกลำเลียงออกมาขัดด้วยกระดาษทรายหยาบและกระดาษทรายละเอียดเพื่อเอาเสี้ยนไม้ออกและปัดฝุ่นที่เกิดจากการขัดออกให้หมดก่อนที่จะเริ่มเคลือบแลคเกอร์และอบแห้งใหม่  ซึ่งทำซ้ำหลายครั้งอยู่หลายครั้งจนได้ชั้นเคลือบหนาพอสมควร  และเมื่อปัดฝุ่นครั้งสุดท้ายออกจนหมดแล้ว จะทำการขัดมันจนขึ้นเงา

 

ส่วนผสมในเนื้อแลคเกอร์ของแต่ละโรงงานมีความแตกต่างกันออกไป  เปียโนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำในหลายโรงงานเริ่มมีการนำแผ่นลามิเนตมาใช้โดยประกบกับตู้ไม้และอัดด้วยความร้อนแทนการขัดและเคลือบแลคเกอร์ซึ่งใช้เวลาและแรงงานสูง  การขัดกระดาษทรายด้วยมือยังคงมีให้เห็นอยู่ในเปียโนยุโรป โดยเฉพาะส่วนของตู้ที่มีการดัดโค้ง  ส่วนของตู้ที่เป็นแผ่นไม้จะสอดดันเข้าไปขัดด้วยเครื่องจักร

 

sanding1.jpg

stringassemble.jpg

stringassemble2.jpg

การขึ้นสาย

 

สำหรับโครงโลหะที่หล่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างจะนำมาเจาะรูตามแบบซึ่งมีกว่าห้าร้อยรูด้วยกัน   เขาจะนำโครงไปชุบเคลือบสีด้วยสีทองและสีอื่นตามที่กำหนด  เทคนิคการเคลือบทองเป็นเทคนิคขั้นสูง  ต้องทำอย่างรวดเร็วก่อนที่สีจะแห้งลงในเวลาอันสั้นทำให้ได้โครงที่เนียนเรียบสวยงามเป็นประกาย  เมื่อชุบเคลือบโครงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างจะนำโครงมาตรึงกับแผ่นซาวน์บอร์ดและเสายึดหลังเปียโน และประกอบโครงตู้ รวมทั้งติดตั้งหมุดและนำสายมาขึ้น   ช่างจะร้อยสายผ่านพิน (pin)  หมุนพินสามรอบเพื่อพันสายและฝังพินผ่านรูโครงโลหะลงไปในเนื้อไม้ (pin-block)  ทำเช่นนี้ทีละสาย

 

สายโลหะที่นำมาติดตั้งนี้มาจากโรงงานหลายแหล่ง แต่ที่นิยมกันมาคือสายของรูสเลา (Roslau)  เยอรมันนี เนื่องจากเป็นสายที่มีคุณภาพของเส้นผ่าศูนย์กลางและความกลมของเส้นคงที่ และทนทานต่อแรงขึงได้เป็นอย่างดี  เป็นสายที่ผลิตจากนิกเกิล   สายเล็กๆจะให้เสียงแหลมกว่าสายที่มีขนาดใหญ่  ในช่วงเสียงเบสจะมีการใช้เส้นทองแดงมาพันรอบสายนิกเกิลเพื่อให้ช่วงเสียงที่ต่ำลง  ยิ่งใช้สายทองแดงเส้นใหญ่ก็ทำให้สายเบสอ้วนขึ้นเสียงที่ได้จะทุ้มต่ำลงไปอีก  สายเทรเบิลเล็กสุดเบอร์ 13 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.775 มม. ส่วนสายใหญ่เบอร์ 22 มีขนาด 1.224 มม.   สายเทรเบิลหนึ่งเสียงประกอบด้วยสายสามเส้นเป็นไตรคอร์ด (trichord)  ส่วนพิน (pin) ที่นำมาร้อยสายก็ทำมาจากเหล็กชุบนิเกิลเช่นเดียวกันและฝังพินไว้ในชั้นไม้เมเปิลที่วางสลับลายไม้ในทิศตั้งฉาก  การที่วางสลับลายซ้อนกันเป็นชั้นเพื่อให้เกิดความฝืด  เวลาที่ขันพินเพื่อตั้งสาย พินจะได้ไม่คืนตัวง่ายๆนั่นเอง

weightbalance.jpg

การประกอบเครื่องและการจูนเสียง

 

เมื่อช่างได้ขึ้นโครงตู้ ติดตั้งซาวน์บอร์ด ขึ้นสายกับโครงโลหะเรียบร้อยแล้ว  จะนำส่วนของแอคชั่นมาติดตั้งพร้อมทั้งหัวค้อนและลิ่ม  ช่างจะจูนเสียงซึ่งเป็นการจูนหยาบด้วยเครื่องมืออิเลคทรอนิคสองครั้ง  ในแต่ละครั้งที่จูนเสียงจะทิ้งห่างกันหนึ่งถึงสองวัน  ในระหว่างนี้จะสวมเครื่องเคาะลิ่มให้ดีดอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทุกส่วนทำงานเข้าที่และการคลายตัวของพินคงที่  ในบางโรงงานได้มีการทดสอบเคาะลิ่มติดต่อกันเป็นสัปดาห์นับล้านครั้งเพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของเปียโนที่ผลิตขึ้น  ทำให้พอที่จะจินตนาการถึงเสียงอีกทึกครึกโครมที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีทีเดียว

 

ในการประกอบส่วนที่เป็นแอคชั่นนั้น ช่างจะเช็คดูที่ละชิ้น   หัวค้อนที่ดีดตัวได้ไม่พอดีอาจต้องมีการใช้เปลวไฟเพื่อดัดด้ามค้อน  ส่วนของแดมเปอร์ (damper) ที่เป็นแผ่นสักหลาดหยุดเสียงก็ต้องติดตั้งให้ได้ระดับแนบกับสายเสียงพอดี  ช่างที่ประกอบต้องใช้กระจกเงาคอยส่องในระหว่างที่ทำงาน  ส่วนลิ่มกดนั้นช่างจะใช้ตุ้มน้ำหนักวางลงบนลิ่มทีละลิ่ม  ลิ่มอันไหนที่เบาเกินก็จะใช้วิธีการถ่วงตะกั่วเล็กๆฝังลงในเนื้อไม้เพื่อคุมให้น้ำหนักมือที่กดลงลิ่มแต่ละอันเท่ากันทุกลิ่ม  เปียโนขนาดเล็กทั่วๆไปมีน้ำหนักทัชชิ่ง 50 กรัม  ขนาดใหญ่ขึ้นมาถึงระดับแกรนด์เป็น 52 กรัม  ส่วนเปียโนสำหรับคอนเสิร์ตได้ปรับให้มีน้ำหนักกดแต่ละลิ่มประมาณ 54 กรัม 

 

ก่อนที่จะประกอบเปียโนในขั้นสุดท้าย  ช่างจะประกอบตู้ให้เรียบร้อย  มีการปรับจูนเสียงใหม่อีกสองครั้ง เป็นการจูนแบบละเอียดด้วยส้อมเสียงและหู  ช่างจะตรวจสอบการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆและปรับเสียงด้วยการใช้เข็มทิ่มสักหลาดที่หัวค้อน  หากต้องการให้เสียงแหลมจัดจ้านก็ปล่อยให้สักหลาดอัดแน่น  หากต้องการเสียงที่หวานทุ้มก็จะใช้เข็มแทงให้เนื้อสักหลาดพรุน  เสียงที่ทุ้มเกินไปอาจแก้ไขด้วยการทาแลคเกอร์ที่หัวค้อนเพื่อให้เนื้อสักหลาดเกาะกันแน่นขึ้น  การปรับโทนเสียงของเปียโนให้เป็นไปในทางเดียวกันทุกเสียงจึงเป็นเรื่องยากและต้องอาศัยความชำนาญของช่างเพียงอย่างเดียว  เปียโนที่ประกอบเสร็จจึงพร้อมที่จะส่งไปตรวจสอบคุณภาพขั้นสุดท้ายก่อนที่จะส่งขาย 

voicing.jpg

รู้จักเปียโนดีเพียงใด
 

เสียงของเปียโนเกิดจากการเคาะสายเสียงและเกิดการสั่นสะเทือนผ่านสะพาน (bridge) ลงไปที่แผ่นซาวน์บอร์ด  การสั่นสะเทือนของซาวน์บอร์ดทำให้อากาศถูกผลักออกไปเป็นคลื่นเสียง  ดังนั้น เปียโนที่มีแผ่นซาวน์บอร์ดขนาดใหญ่ย่อมให้เสียงที่ดังกว่าเปียโนที่มีขนาดของซาวน์บอร์ดเล็ก  เปียโนชนิดอัพไรท์ยิ่งสูงก็จะให้เสียงที่ดังมากขึ้นตามลำดับ  ประมาณว่าเปียโนอัพไรท์ที่มีความสูง 131 ซ.ม.จะมีพื้นที่ของแผ่นซาวน์บอร์ดใกล้เคียงกับเปียโนแบบแกรนด์ขนาด 6 ฟุต  เนื่องจากซาวน์บอร์ดเป็นภาคการขยายของคลื่นเสียง ดังนั้นแผ่นซาวน์บอร์ดที่ได้จากการนำไม้สนมาต่อเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันจึงต้องมีรอยต่อที่เรียบสนิทเป็นแผ่นเดียวกันปราศจากรอยแตก

 

เสียงของเปียโนยังขึ้นกับสายเปียโนอีกด้วย  เปียโนในยุคหลังมีการออกแบบให้มีการไขว้สายกันเป็น overstrung คือมีการแบ่งกลุ่มสายเสียงแหลมหรือเทรเบิล และกลุ่มสายที่เป็นสายเสียงต่ำหรือเบส   กลุ่มสายเบสประมาณ32 สายจะขึงสายไว้เหนือกลุ่มสายเทรเบิลซึ่งอยู่ข้างใต้ วางตัดกันเป็นกากบาท  กลุ่มสายเทรเบิลจะมีการขึงแบบไตรคอร์ดหรือสามสายต่อเสียง  ดังนั้นเปียโนขนาดมาตรฐาน 88 คีย์หรือลิ่มกดจะมีสายประมาณ 200 เส้นขึงอยู่  ประมาณว่าสายแต่ละเส้นมีแรงขึงเส้นละ 100 กิโลกรัม  คิดเป็นแรงดึงสูงถึง 20 ตันทีเดียว  สายที่ให้เสียงแหลมที่สุดจะมีขนาดสั้นที่สุดและยาวเพิ่มขึ้นตามลำดับ  สายที่ยาวที่สุดคือสายเบสตัวที่หนึ่งหรือสายที่ขึงอยู่ด้านซ้ายมือสุด  

 

สายเปียโนจะให้เนื้อเสียงที่หนาไม่เท่ากันแม้ว่าจะมีความถี่ของเสียงเท่ากันหากมีความยาวสายที่แตกต่างกัน  ยิ่งมีสายยาวเท่าใดก็ยิ่งให้เสียงที่ทุ้มลึกมากขึ้นตามลำดับ  การออกแบบไขว้สายเป็น overstrung นี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำให้ขึงสายยาวได้ยาวขึ้น  นอกจากนี้การไขว้สายยังทำให้สามารถออกแบบโครงเหล็กให้เกิดการกระจายแรงขึงได้ดีกว่า  เปียโนอัพไรท์ของยามาฮ่าขนาด 52 นิ้ว มีสายเบสสายที่หนึ่งเท่ากับ 47.5 นิ้ว  ในขณะที่ขนาด 44, 45 และ 48 นิ้วมีสายเบสสายที่หนึ่งเท่ากันหมดคือ 44.5 นิ้ว  ด้วยเหตุนี้เปียโนอัพไรท์ที่มีความสูงตั้งแต่48 นิ้วขึ้นไปจะให้เสียงเปียโนที่ดีกว่าคือมีความทุ้มและกังวานยาวนานกว่าเปียโนขนาดเล็ก   สำหรับเปียโนชนิดแกรนด์แล้ว การออกแบบให้วางยาวตามแนวนอนทำให้สามารถวางสายเบสสายที่หนึ่งได้ยาวกว่าเปียโนแบบอัพไรท์ไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว  เปียโนแกรนด์ขนาด 6 ฟุตจึงมีสายเบสสายที่หนึ่งยาว 53-54 นิ้วขึ้นไป   ภาพประกอบ overstrung และ straighted ได้มาจาก www.courtneypianos.co.uk

 

โทนเสียงหรือ voice ของเปียโนยุโรปต่างกับเปียโนของญี่ปุ่นและเกาหลี  เปียโนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในยุโรปจะมีการควบคุมคุณภาพเสียงให้ทุ้มหวาน  ไม่แหลม (bright) เช่นเปียโนของเอเชีย  เปียโนที่ผลิตในยุโรปจึงเหมาะกับการเล่นเพลงคลาสิกมากกว่า  ในขณะที่เปียโนของเอเชีย เช่น ยามาฮ่า ยองชาง คาวาอิ จะเหมาะกับการเล่นเพลงในแนวร่วมสมัย เพลงป๊อบและแจ๊ส

 

เปียโนชนิดแกรนด์แบ่งไว้เป็นหลายเกรดตามขนาดความยาวดังนี้

 

5'8" หรือเล็กกว่า  Baby Grand

5'10"                Boudoir Grand      

6' (183 cm)       Professional grand

6'4" (193 cm)     Drawing room Grand

6'8" - 6'10" (203 - 208 cm)    Parlour, Artist, Salon or Music Room Grand

7'4" (224 cm)     Half Concert or Semi Concert Grand

8'11" (272 cm) และใหญ่กว่า      Concert or Orchestral Concert Grand

 

เปียโนชนิดแกรนด์มีข้อได้เปรียบกว่าชนิดอัพไรท์เนื่องจากการตกกลับของค้อนอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและสามารถดีดให้เคาะใหม่ได้ในเวลาอันสั้นด้วยกลไกดีดคืนเพื่อเล่นโน๊ตตัวเดิมซ้ำๆ  ในขณะที่การตกกลับของค้อนในเปียโนอัพไรท์อาศัยการกระตุกของเชือกหนังและมีกลไกอื่นๆซึ่งมีแรงต้านทานภายในมากกว่าทำให้ประสิทธิภาพการดีดให้เคาะโน๊ตตัวเดิมซ้ำๆกันใช้เวลานานกว่าแบบแกรนด์     วิวัฒนาการของการผลิตอัพไรท์แกรนด์ (เปียโนอัพไรท์ขนาด 49 นิ้วขึ้นไป) มีการพัฒนากลไกของแอคชั่น ประกอบกับสายเบสที่ยาวกว่าปกติและแผ่นซาวน์บอร์ดขนาดใหญ่ ทำให้มีเสียงและคุณภาพใกล้เคียงกับเปียโนชนิดแกรนด์ขนาด 6 ฟุตเลยทีเดียว     โดยทางเทคนิคแล้วจึงไม่แนะนำให้ซื้อเปียโนชนิดเบบี้แกรนด์เพราะมีข้อจำกัดของความยาวสาย, ขนาดของแผ่นซาวน์บอร์ด ซึ่งให้คุณภาพของเสียงต่ำกว่าเปียโนอัพไรท์ขนาด 48 นิ้ว 

 

สำหรับเปียโนชนิดคอนเสริตแกรนด์ที่มีขนาดตั้งแต่ 9 ฟุตขึ้นไป อาจมีการเพิ่มเสียงเบสให้ต่ำลงอีก 6 เสียงทำให้เปียโนหลังนั้นมี 96 คีย์ด้วยกัน  แกรนด์ของ Bluthner ออกแบบให้สายในช่วงเทรเบิลมีทั้งหมดเสียงละสี่สาย  สายที่สี่จะแยกตัวออกไปให้หัวค้อนเคาะได้เพียงครั้งละ 3 สายเท่านั้นทำให้สายที่สี่สั่นสะเทือนเป็นอิสระแบบซิมพาเตติก  เสียงที่ได้จึงกังวานลึกและมีมิติของเสียงมาก

straight-strung-250.jpg
straight-strung frame type

overstrung-250.jpg
Overstrung frame type

การแบ่งกลุ่มของเปียโนตามหนังสือ The piano handbook  ฮัมฟรีส์แบ่งกลุ่มเปียโนตามผู้ผลิตไว้เป็นสี่กลุ่ม  กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของเปียโนที่มีคุณภาพสูงสุด  ส่วนใหญ่เป็นเปียโนที่ผลิตในยุโรป  เปียโนจากผู้ผลิตกลุ่มนี้มีชื่อเสียงมานาน และแม้ว่าจะเป็นเปียโนใช้แล้วก็ยังมีราคาสูงหรือหาไม่ได้อีกในตลาดของเก่า  ได้แก่ Bechstein (เยอรมันนี), Bosendorfer (ออสเตรีย), Bluthner (เยอรมันนี,อเมริกา), Steinway & Son (เยอรมัน, อเมริกา), Fazioli (อิตาลี)

 

กลุ่มที่สองเป็นเปียโนที่มีคุณภาพดีมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเปียโนจากโรงงานเล็กๆในค่ายยุโรปเช่นกัน ได้แก่ Schimmel (เยอรมันนี), Ibach (เยอรมันนี), August Forster (เยอรมัน), Baldwin (อเมริกา), Boston (อเมริกา, Steinway ที่ผลิตในเอเชีย), Broadwood (อังกฤษ, เลิกผลิตแล้ว), Cheppell (อังกฤษ, เลิกผลิตแล้ว)

 

นอกจากนี้ยังมีเปียโนยุโรปอีกหลายยี่ห้อที่มีคุณภาพอยู่ในขั้นดีเป็นที่ยอมรับกัน ได้แก่ Sieler(เยอรมันนี), Zimmermann(เยอรมันนี), Steinburg (เยอรมันนี), Sauter (เยอรมันนี), Petrof (สาธารณรัฐเชค)  และมีเปียโนอังกฤษหลายยี่ห้อที่ถูกซื้อไปผลิตในเยอรมันนี้ เช่น Kemble, Collard & Collard, Rogers เป็นต้น  ในปัจจุบันมีเปียโนทั้งของอังกฤษและเยอรมันหลายยี่ห้อที่เจ้าของไมได้ผลิตเองอีกต่อไป  บางโรงงานได้ขายลิขสิทธิ์ยี่ห้อไปให้กับโรงงานประกอบเปียโนในจีน และมาเลเซีย โดยขายเครื่องจักรและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ  โรงงานประกอบเปียโนจะซื้อวัตถุดิบต่างๆมาประกอบตามที่เจ้าของยี่ห้อกำหนด  เปียโนใหม่ที่ผลิตจากโรงงานเหล่านี้ย่อมมีคุณภาพแตกต่างไปจากชื่อเสียงเดิมที่เคยเป็นที่รู้จักกัน เช่น Rittmuller (เยอรมันนี), Challen (อังกฤษ), Barratt & Robinson (อังกฤษ) เป็นต้น

 

กลุ่มที่สามเป็นเปียโนที่มีคุณภาพดีถึงดีมากคุ้มกับราคามากที่สุด เป็นเปียโนที่ผลิตในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลี  คุณภาพของการผลิตทำได้อย่างดีและปราณีต โทนเสียงของเปียโนในกลุ่มนี้ค่อนข้างแหลมบาดหู  ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ Yamaha (ญี่ปุ่น), Kawai (ญี่ปุ่น), Young Chang (เกาหลี)  เปียโนกลุ่มนี้นอกจากฐานการผลิตในประเทศแล้วยังมีฐานการผลิตในอินโดนีเซีย, จีน และอเมริกาด้วย ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด

 

กลุ่มที่สี่เป็นเปียโนที่มีคุณภาพต่ำที่สุด  ได้แก่เปียโนที่ผลิตในจีน

ข้อคิดในการเลือกเปียโน

 

เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่มีราคาแพง ทำให้หลายท่านหันไปหาซื้อเปียโนเก่ามาใช้แทน  เปียโนหลังหนึ่งมีอายุการใช้งานตั้งแต่สิบปีขึ้นไป  เปียโนที่ประกอบดีๆอาจมีอายุมากกว่า 20 ปี  เปียโนที่เก่ากว่านี้อาจต้องมีการปรับสภาพใหม่ทั้งภายนอก ส่วนของแอคชั่นและอื่นๆ  การซื้อเปียโนเก่าจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบมากพอสมควรและผู้ซื้อยังต้องเตรียมเงินไว้อีกส่วนหนึ่งสำหรับซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี

 

สีและการวานิชภายนอกของเปียโนเก่าจะไม่สวย หรือแตกลายงาตามเวลาที่ผ่านไป  ดังนั้นจึงต้องมีการขัดทำสีใหม่  เปลี่ยนลามิเนตบนลิ่มไม้  การซื้อเปียโนเก่าจึงไม่สามารถดูแต่เพียงภายนอกเพียงอย่างเดียว เพราะได้รับการซ่อมแซมอุดรอยแตกของไม้มาแล้ว  ไม้ที่มีรอยแตกร้าวย่อมทำให้คุณสมบัติในการเรโซแนนซ์ผิดปกติไป  หากเปีโนได้รับการปรับสภาพมาแล้ว ให้ตรวจดูความปราณีตของการซ่อมแซมและทำสีใหม่

 

การที่เราจะทราบว่าเปียโนของเราเก่ามากน้อยเพียงใด เราสามารถดูได้จากเลยเครื่องที่พิมพ์ไว้บนโครงโลหะ โดยตรวจสอบกับผู้ผลิต  นอกจากนี้สามารถดูได้จากการไขว้สายว่าเป็นแบบ overstrung  และมีการวางตัวหยุดเสียงของเปียโนชนิดอัพไรท์ไว้ต่ำกว่าระดับของค้อน (underdampered)  เปียโนที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นเปียโนที่ผ่านยุควิวัฒนาการของมันมาแล้ว

 

เนื่องจากเปียโนมีชิ้นส่วนที่เป็นกลไกมากมาย และกลไกส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ซึ่งสามารถยืดหดตัวได้ เปียโนจะให้เสียงที่มีคุณภาพก็ต่อเมื่อได้ใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว การซื้อเปียโนเก่ามาจากต่างประเทศจะมีข้อดีที่เนื้อไม้แห้งสนิทแล้ว  การยืดหดของแต่ละชิ้นส่วนจึงมีน้อยกว่า แต่อย่าลืมว่าสภาวะแวดล้อมของเปียโนเปลี่ยนจากที่มีอากาศแห้งและหนาวเย็นมาสู่ที่มีอากาศร้อนชื้น กาวและสักหลาดเป็นส่วนที่ก่อปัญหา  เมื่อผมซื้อหนังสือมาจากอเมริกาผมไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด แต่หนังสือที่ผมซื้อมาจากอังกฤษมักพบว่ากาวที่ไสไว้ที่ปกมักมีอายุสั้น หนังที่หุ้มปกหลุดร่อนออกได้ง่ายกว่า เปียโนเก่าที่นำเข้ามาขายในบ้านเรามักมีอายุมากกว่าสิบปีขึ้นไป  กลไกต่างๆเข้าที่หมดแล้วเต็มที่แล้วทำให้มีเสียงที่ดี  แต่โดยส่วนตัวแล้วหากผมมีงบประมาณพอผมจะเลือกซื้อเปียโนใหม่เท่านั้นเพื่อตัดปัญหาการซ่อมบำรุงในระยะยาว  ผมรู้สึกได้ถึงความหลวมแม้เพียงเล็กน้อยของกลไกที่ใช้งานมาแล้วและทัชชิ่งที่ไม่หนึบพอ  หัวค้อนของเปียโนที่ใช้งานมานานจะสึกให้เห็นได้  การเรียงของหัวค้อนต้องเรียงเป็นระเบียบเป็นแนวตรง  ลิ่มเปียโนได้ระนาบเรียงกันเป็นระเบียบ สายโลหะและพินไม่ขึ้นสนิม  ควรสังเกตด้วยว่ามีการเปลี่ยนสายเปียโนบ้างหรือไม่   ควรตรวจสอบซาวน์บอร์ดว่าไม่มีรอบแตกหรือรอยการอุดซ่อมให้แน่ใจอีกครั้งในวันส่งของ  เปียโนเก่าที่มีการบำรุงรักษาอย่างดีควรได้รับการจูนเสียงสมำเสมอ ดังนั้นน่าจะปรับเสียงไว้ที่ concert pitch  ให้เคาะส้อมเสียงตรวจสอบด้วยตัวเอง  หากเปียโนนั้นไม่ได้ตั้งไว้ที่ concert pitch ให้สงสัยไว้เลยว่าเปียโนตั้วนั้นไม่ได้มีการบำรุงรักษามาอย่างสม่ำเสมอ ให้เลือกูเปียโนหลังใหม่แทน

 

ควรเลือกเปียโนที่ให้เสียงเหมาะกับตัวเอง ผู้ที่นิยมเล่นเพลงคลาสิกจึงควรเลือกเปียโนที่ให้โทนเสียงหวานและอบอุ่น  ส่วนผู้ที่นิยมดนตรีป๊อบและดนตรีแจ๊สก็ควรเลือกเปียโนที่ให้เสียแหลมใส  เลือกทัชชิ่งที่เหมาะกับตนเองด้วย  โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะมีน้ำหนักมือไม่แรงเท่ากับผู้ชาย ทัชชิ่งที่เหมาะคือ 52 กรัม ทัชชิ่งที่หนักสำหรับเปียโนชนิดคอนเสริตแกรนด์คือ 54 กรัม   การเลือกเปียโนจึงควรได้ทดลองเล่นด้วยตนเอง ฟังเสียงเอง รับรู้ถึงทัชชิ่งด้วยตัวเอง หรือพาเพื่อนที่มีประสพการณ์พอสมควรไปลองเล่นและวิจารณ์ให้ฟังได้ด้วย    อย่าซื้อเปียโนเพราะลักษณะภายนอก แรงเชียร์จากผู้ขาย และควรลองเล่นกับเปียโนหลายๆตัวทั้งตัวที่มีราคาสูงกว่าและต่ำกว่าเพื่อเปรียบเทียบเสียงความรู้สึกที่สัมผัส 

 

ควรทดสอบอะไรบ้าง 

1. ให้ลองไล่สเกลตลอดทั้งคีย์บอร์ดและฟังโทนเสียงว่าราบรื่นหรือไม่ มีโทนเสียงที่โดดออกมาหรือไม่ 

2. ในช่วงเสียงเบสให้เสียงที่ขุ่น หรือทุ้มเกินไปหรือไม่

3. ในบริเวณโน๊ตเสียงสูงๆทางซ้ายมือมีเนื้อเสียงที่เบาบางเกินหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเล่นกับโน๊ตในช่วงกลางและเบส

4. เสียงสูงนับจากกลางเปียโนขึ้นไปให้เสียงที่ไม่แหลมบาดแก้วหูจนเกินไป  เสียงควรออกมาค่อนข้างกลม

5 ทดสอบเล่นด้วยน้ำหนักมือหลายระดับเพื่อประเมินช่วงกว้างของความดังหรือ dynamic range

6. ทดสอบเล่นโน๊ตตัวเดียวกันซ้ำๆเพื่อดูแอคชั่นของเปียโนหลังนั้นว่าตอบสนองได้ดีเพียงใด  ทดลองเล่น trill แบบต่างๆ  และลองกดคอร์ดซ้ำๆ  นอกจากนี้ให้ลองกดโน๊ตฟังเสียงทีละตัวเพื่อฟังเนื้อเสียง ความกังวาน เสียงที่ค่อยๆจางลงกินเวลานานเท่าใด  ให้สังเกตด้วยว่าเสียงออกมาทันทีที่กดโน๊ตหรือไม่  รวมทั้งฟังว่า damper ที่หยุดเสียงทำงานได้สมบูณ์ดีเพียงใดหลังจากที่ยกมือขึ้น

7. ทดสอบพีเดิลว่าทำงานได้ราบรื่นเพียงใด  สามารถตอบสนองเพื่อลากเสียงให้ยาวนานเมื่อเหยียบลง และหยุดเสียงได้สมบูรณ์เมื่อยกขึ้น

 

ราคาของเปียโนแต่ละหลังสะท้อนถึงแหล่งที่ผลิต ค่าแรงงาน และค่าต้นทุนวัสดุ  ไม้สน ไม้เมเปิลที่ปลูกในส่วนต่างๆของโลกย่อมให้เนื้อไม้ที่แตกต่างกันถึงแม้ว่าจะเป็นพันธ์เดียวกันก็ตาม  ปริมาณของน้ำและการเติบโตอย่างรวดเร็วของวงปีทำให้ไม้มีคุณสมบัติต่างกัน  ไม้ที่โตเร็วจะมีเนื้อวงปีกว้างและไม่แน่น จะมีรูพรุนเล็กๆกระจายเต็มเนื้อไม้ทำให้ไม้มีคุณสมบัติเบา, ไม่แข็งแรง บิดงอหรือแตกง่ายและให้เสียงก้องๆ 

 

แอคชั่นเป็นส่วนที่สำคัญของเปียโน โรงงานผลิตแอคชั่นให้กับเปียโนชั้นนำของโลกส่วนใหญ่มาจากเรนเนอร์และชวานเดอร์ในเยอรมันนี  การเลือกเปียโนจากผู้ผลิตแอคชั่นทั้งสองรายก็เป็นหลักประกันได้ระดับหนึ่งในเบื้องต้นเพราะผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีในการผลิตเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตอาจใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งอื่นทดแทนเพื่อลดต้นทุนในการผลิตก็ได้

เปียโนชนิดแกรนด์เหมาะกับห้องที่มีพื้นที่ใหญ่  หากมีพื้นที่คับแคบควรเลือกชนิดอัพไรท์แทน  หากต้องการซื้อเปียโนที่มีการตอบสนองที่ดีและตั้งใจจะเดินในสายอาชีพ ควรซื้อเปียโนชนิดแกรนด์เพราะตอบสนองและพัฒนาการลงน้ำหนักมือได้ดีกว่าชนิดอัพไรท์  แต่ไม่ควรซื้อแกรนด์ที่มีขนาดต่ำกว่า 5 ฟุต เนื่องจากซาวน์บอร์ดเล็กและมีสายสั้น  หากไม่มีพื้นที่มากพอแต่อยากได้เสียงเปียโนที่ใกล้เคียงกับชนิดแกรนด์ขนาด 5.5-6 ฟุต ให้เลือกเปียโนอัพไรท์สูง 52 นิ้วแทน

 

สีของเปียโนมีหลายสี  สีมาตรฐานคือ polished ebony หรือสีดำ  เป็นสีที่นิยมใช้ในคอนเสริตฮอลล์เป็นหลักเพราะดูสง่าภูมิฐาน  สีน้ำตาลเข้มไม้โอ๊คและสีน้ำตาลแดงมะฮอกกานีเป็นสีที่นิยมกัน นิยมใช้ย้อมโชว์ลายไม้สวยงามและสามารถเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านได้เป็นอย่างดี  เปียโนสีขาวเป็นเปียโนที่ดูแลให้สีดูสวยงามตลอดเวลาได้ยากที่สุด  เจ้าของจึงควรเป็นคนที่พิถีพิถันดูแลเองอย่างสม่ำเสมอ

 

เปียโนเป็นของมีราคา บางหลังราคาเท่ากับรถเก๋งหนึ่งคัน บ้างก็ราคาเท่ากับบ้านหนึ่งหลัง  การเลือกซื้อเปียโนจึงต้องพิถีพิถัน  หากมีงบประมาณมากพอผมแนะนำให้ซื้อเปียโนใหม่เพื่ออยู่กับเราไปอีกนานและซื้อกับผู้ผลิตที่เราเชื่อถือคุณภาพการประกอบ  เพราะการเลือกซื้อและทดสอบเปียโนเก่าไม่ใช่ทำกันง่ายๆ และผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มืออาชีพที่ลุกคลีกับกลไกของเปียโนอยู่เป็นประจำ ความคุ้มราคาจะหายไปทันทีหากเราเลือกผิดพลาด

การดูแลและบำรุงรักษาเปียโน

 

การวางเปียโนอัพไรท์ ควรวางหันออกเสมอเพราะเสียงจะดังออกจากซาวน์บอร์ดเป็นหลัก หากต้องการวางเปียโนหันเข้าหาข้างฝา ต้องวางให้ห่างออกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งฟุต  ห้องที่เป็นผนังอิฐทึบหรือห้องกระจกมักให้เสียงก้อง ไม่สามารถฟังรายละเอียดของการฝึกซ้อมได้ดีจึงควรติดผ้าม่านเพื่อลดการสะท้อนของเสียงภายในห้อง  ห้องที่เป็นพื้นไม้ดีกว่าห้องที่เป็นพื้นกระเบื้องและพื้นหิน  หากแก้ไขสภาพห้องไม่ได้ ตำแหน่งที่วางแกรนด์ควรเลือกปูพรมเพื่อลดการสะท้อนของเสียง   ผู้ผลิตทุกรายแนะนำให้หลีกเลี่ยงการวางกรอบรูป แจกัน หนังสือเพลงไว้บนฝาเปียโน รวมทั้งการคลุมผ้าไว้บางส่วนเพราะทำให้คุณภาพเสียงลดลงเนื่องจากเรโซแนนซ์ของตู้ไม่ดี  นอกจากนี้ยังทำให้พื้นผิวเป็นรอยขีดข่วนได้ง่ายและน้ำในภาชนะอาจหกรด

 

การใช้ผ้าคลุมเปียโนเพื่อกันฝุ่นไม่ใช่ทางออกที่ดีเพราะผ้าเป็นตัวดักฝุ่นกลับกระตุ้นอาการภูมิแพ้  ผ้ามีคุณสมบัติดูดความชื้นในอากาศ การคลุมผ้าจนมิดทั้งหลังกลับทำให้เปียโนอัพไรท์ชื้นมากกว่าเปียโนชนิดแกรนด์ เพราะเปียโนแกรนด์ตั้งอยู่บนขาที่ลอยจากพื้นมีทางให้ลมโกรก  ดังนั้น ควรวางเปียโนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทจะดีกว่า ไม่วางในห้องใต้หลังคา วางในที่อากาศร้อนจัดหรือแสงแดดส่องลงมาโดยตรง หรือวางในตำแหน่งที่ลมจากครื่องปรับอากาศตกพอดีเพื่อหลีกเลี่ยงความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงกว้างๆ

 

แนะนำให้ทำความสะอาดเปียโนด้วยการปัดฝุ่นและเช็ดตามด้วยผ้าชื้น  การทำความสะอาดด้วยผ้าชื้นให้ทำเฉพาะภายนอกตู้และลิ่มเปียโนเท่านั้น  อย่าใช้ผ้าชื้นกับส่วนของโครงเหล็ก, สาย, ซาวน์บอร์ด และส่วนอื่นๆข้างในเป็นอันขาด  หลีกการทำความสะอาดด้วยสารเคมีที่ติดไฟง่าย เช่น อัลกอฮอล์ ทินเนอร์ เพราะจะไปทำลายแลคเกอรืที่เคลือบไว้ทำให้ด่างเป็นรอยสีด้านๆ

 

การจูนเปียโน ควรมีการปรับแต่งเสียงด้วยช่างอาชีพปีละ 2-4 ครั้งแล้วแต่ความถี่ของการใช้งาน   เปียโนที่ไม่ค่อยได้ใช้งานควรมีการจูนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 2 ครั้งสำหรับเปียโนที่มีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอวันละ 1-2 ชั่วโมง   เปียโนในโรงเรียนที่มีผู้ฦกซ้อมกันมากควรจูนเสียง 3-4 ครั้งต่อปี  และควรจูนเสียงใหม่ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายเปียโน เช่น มีการย้ายข้ามห้อง ยกขึ้นลงบันได   สำหรับเปียโนในคอนเสิรตฮอลล์จะมีการจูนเสียงทุกครั้งที่มีการแสดง และในบางครั้งเราจะเห็นว่ามีการจูนเสียงในระหว่างการพักครึ่งเวลาด้วย  อนึ่ง เปียโนใหม่สามารถจูนเสียง A = 440 Hz ได้ ในขณะที่เปียโนเก่ามากๆอาจทำไม่ได้ concert pitch เช่นนั้น