One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames

The earth I

ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้มีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมาย จะมีใครออกไปสำรวจกับผมบ้าง

earth.jpg
Figure 1 Sturcture of the earth

 แม่เหล็กโลกกำลังกลับทิศ (กุมภาพันธ์ 2006)

 ข่าวฮอตในสองปีที่ผ่านมาในวงการวิทยาศาสตร์คงหนีไม่พ้นเรื่องแม่เหล็กโลกกำลังกลับขั้ว  จากแบบจำลองของคอมพิวเตอร์ทำให้เชื่อกันว่าในรอบพันล้านปีที่ผ่านมา แม่เหล็กโลกกลับขั้วกันเป็นว่าเล่นมาหลายครั้งแล้ว

 ลึกลงไปในแกนกลางของพิภพเป็นแกนชั้นใน (inner core) เป็นแกนแข็งล้อมรอบด้วยแกนชั้นนอก (outer core, ส่วนสีเหลืองในรูปที่ 1) ที่อยู่ลึกลงไปกว่าระหว่าง 2,800- 5,000 กิโลเมตรจากผิวโลก     ถัดขึ้นมาเป็นชั้นเปลือกโลก (mantle, ส่วนสีม่วง)  หนาประมาณ 2,800 กิโลเมตร และพื้นผิวด้านนอกที่ปกคลุมด้วยมหาสมุทร   แกนชั้นนอกเป็นชั้นเหลวที่มีธาตุเหล็กและนิเกิลเป็นองค์ประกอบหลัก หลอมอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 5,000 องศาเซลเซียส  ความร้อนจากด้านที่อยู่ติดแกนในจะพาเหล็กให้ลอยปุดเหมือนหม้อซุปเดือด  พาเหล็กหลอมจากก้นหม้อลอยขึ้นมาที่ผิวบนด้านที่ติดกับเปลือกโลกซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ความเย็นทำให้เหล็กหลอมหนาแน่นมากขึ้น จึงจมตกกลับลงไปใหม่    ผลจากการไหลเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กโลกขึ้นโดยที่แกนชั้นนอกเป็นประหนึ่งเครื่องกำเนิดสนามแม่เหล็ก geodynamo ขนาดยักษ์  นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า การที่โลกหมุน  นอกจากจะส่งผลให้กระแสน้ำในมหาสมุทรและพายุในเขตศูนย์สูตรบิดวนเป็นเกลียวดังปรากฏเห็นด้วยภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว  การหมุนของโลกก็ยังส่งอิทธิพลที่เรียกว่าคอริโอลิสไปถึงของเหลวร้อนที่อยู่ในชั้นแกนนอกด้วย ทำให้การไหลเกิดเป็นเกลียวบิดด้วยเช่นกัน   การไหลของเหล็กหลอมในแกนนอกของโลกมีทิศทางที่แน่ชัด เมื่อผนวกกับการหมุนของโลกทำให้เส้นเหล็กหลอมเหล่านี้พันบิดเป็นท่อนเกลียวเปรียบเสมือนแท่งแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาก    อย่างไรก็ตามพบว่าบางครั้งอุณหภูมิในแกนโลกมีการเปลี่ยนแปลงไม่สม่ำเสมอ  อาจทำให้เส้นไหลของเหล็กหลอมเป็นลูกผสมคือมีเส้นทางการไหลกลับทิศกันกันได้   ดังนั้น เส้นแรงแม่เหล็กที่พุ่งออกมาจึงมีทั้งเส้นแรงปกติ และเส้นแรงที่มีสนามแม่เหล็กสองทิศทาง

 นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ดาวเทียม อุปกรณ์ต่างๆมาวัดความเข้มสนามแม่เหล็กโลก และใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อจำลองสนามแม่เหล็กโลก  ผลจากการศึกษาพบว่า สนามแม่เหล็กที่ผิวโลกมีความเข้มข้นเพียง 1 %ของที่ออกมาจากแกนแม่เหล็กเท่านั้น  แถบที่มีสนามแม่เหล็กหนาแน่นพบเพียงที่ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้  โดยที่ขั้วใต้เป็นทิศที่เส้นแรงแม่เหล็กพุ่งออกจากแกน  ในขณะที่เส้นแรงแม่เหล็กพุ่งกลับเข้ามาทางด้านขั้วเหนือด้านบน  

 สนามแม่เหล็กโลกจะมีการพลิกกลับทุกสองแสนปีโดยเฉลี่ย (เกิดได้ตั้งแต่หนึ่งแสนถึงล้านปี)  ครั้งสุดท้ายที่พลิกกลับเกิดขึ้นเมื่อ 780,000 ปีที่แล้ว เรียกปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่า Brunhes-Matuyama  ข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลทางธรณีวิทยา  โดยที่นักธรณีวิทยาจะศึกษาจากชั้นหินลาวาที่แข็งตัว  จะพบว่าองศาการเรียงตัวของอนุภาคเหล็กในแต่ละชั้นจะเปลี่ยนองศาไปมากน้อยเพียงไร  โดยวิธีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทราบองศาของสนามแม่เหล็กโลกที่เปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อยตามอายุของโลกที่เพิ่มขึ้น    ในการพลิกกลับแต่ละครั้งจะใช้เวลาสั้นๆเพียง 4,000-10,000 ปี    ที่พูดกันว่าสั้นๆ เพราะการหยุดเพียงสี่พันวันของอายุโลกที่มีถึงสี่พันห้าร้อยล้านปีนี้มันเล็กน้อยมากๆ   และ กว่าที่สนามแม่เหล็กที่ขั้วจะจางหายไปหลังจากไดนาโมหยุดทำงานก็กินเวลา 100,000 ปีเข้าไปแล้ว

 กลไกการพลิกกลับของแม่เหล็กโลกยังไม่เป็นที่สรุปกันแน่ชัด   นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ตัวกำเนิดพลังงานที่เรียกว่า geodynamo  อาจหยุดการทำงานตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดจากดวงดาวอื่นที่มีพลังงานสูงโคจรมาใกล้  และเมื่อตัวกำเนิดพลังงานเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง ในขณะนั้นขั้วเหนืออาจกำลังชี้ไปทางทิศทางเหนือหรือไปทางทิศใต้  หากขั้วแม่เหล็กขั้วเหนือหันไปทางทิศใต้ในขณะที่เครื่องกำเนิดพลังงานเริ่มทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ย่อมเป็นปรากฏการณ์ขั้วแม่เหล็กกลับทิศ

 นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามการกลับขั้วของแม่เหล็กโลกมานาน   จากการศึกษาพบว่าขั้วแม่เหล็กโลกเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมปีละ 15 กิโลเมตร  ทั้งสองขั้วเป็นอิสระจากกัน เป็นที่น่าประหลาดใจว่าขั้วแม่เหล็กโลกมีตำแหน่งเหลื่อมกันเล็กน้อย ไม่ได้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน  เมื่อไม่นานมานี้สถาบันธรณีฟิสิคซ์ที่ปารีส ได้รายงานว่าพบความเข้มสนามแม่เหล็กทางขั้วโลกใต้ออกไปทางตะวันตกของทวีปอัฟริกา เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เป็นสนามแม่เหล็กที่มีเส้นแรงแม่เหล็กพุ่งเข้าหาแกน     ในขณะเดียวกันกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลีดก็รายงานว่ามีขั้วแม่เหล็กกลับทิศขึ้นที่ทวีปอเมริกาเหนือด้านฝั่งแอตแลนติก    ภาพจากซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทีมของ Dr. Gary Glatzmaier ศึกษาไว้ประมาณว่า กว่าที่ปรากฏการณ์แม่เหล็กโลกกลับขั้วในครั้งนี้จะเสร็จสิ้นลงกินเวลาประมาณ 9,000 ปีกลับ

 นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า  เกิดจาก เส้นแรงแม่เหล็กที่พุ่งเข้าที่ขั้วโลกใต้เกิดจากเส้นแรงแม่เหล็กลูกผสมที่ไม่ใช่แม่เหล็กปกติ  เส้นแรงที่มีหลายทิศจะถูกแรงบิดที่เกิดจากการหมุนของโลกบิดกลับลงมาเข้าสู่ขั้วโลกใต้ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กบริเวณใหม่

แม่เหล็กโลกเกี่ยวพันอะไรถึงชีวิตเรา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับโลกใบนี้ ต้องรออ่านต่อไปนะครับ

คำอธิบายรูปที่ 2 เป็นภาพจากคอมพิวเตอร์แสดงเส้นแรงแม่เหล็กสีเหลืองที่พุ่งออกจากขั้วโลกใต้  และเส้นสีฟ้าที่พุ่งเข้าทางขั้วโลกเหนือ   ภาพจากดาวเทียมจะบันทึกสนามแม่เหล็กที่ผิวโลกได้เฉพาะส่วนขั้วสองจุดเท่านั้น  ส่วนที่เห็นเป็นสีทึบในวงกลมครึ่งบนฟ้าครึ่งล่างเหลือง แสดงถึงสนามแม่เหล็กที่อยู่ในโลก

 เอกสารอ้างอิง                                                                                         Glatzmaier, G.A. and Olson P. 2005. Scientific American 292(4):32-39. http://en.wikipedia.org/wiki/Dynamo_theory      http://en.wikipedia.org/wiki/Earth%27s_magnetic_field

earth-magnetic-strings-bg.jpg
Figure2 Model of earth's magnetic string

แม่เหล็กโลกกับสิ่งมีชีวิต (สิงหาคม 2006)
 

จากบทความของดร.โทนี ฟิลลิปส์ ใน Science@NASA ได้เรียบเรียงถึงปรากฏการณ์แม่เหล็กโลกอ่อนกำลังลงประมาณ 10% ในรอบสิบปีที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์พยายามเชื่อมความสัมพันธ์ว่าการที่แม่เหล็กโลกอ่อนกำลังลงนี้เกี่ยวข้องกับการกลับขั้วหรือไม่อย่างไร  แท้จริงแล้วกำลังแรงของแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุขัยของโลกนี้ และความเข้มของแรงแม่เหล็กโลกที่ขั้วในทุกวันนี้ก็แรงกว่าเมื่อล้านปีที่แล้วถึงเท่าตัว 

 

ตั้งแต่ปี 1831-2001 มีรายงานของกลุ่มสำรวจทางธรณีวิทยาประเทศแคนาดาว่าขั้วแม่เหล็กโลกในแถบอาร์กติกที่พาดอยู่ในเขตประเทศคานาดาก็เลื่อนขึ้นจาก 70N 80N    เขารายงานว่าขั้วเหนือแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่ไป 40 กิโลเมตรในระหว่างปี 1831-1904 และเคลื่อนต่อไปด้วยอัตราเฉลี่ยปีละ 10 กม. และเร่งเร็วขึ้นเป็นปีละ 40 กม.ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา   หากคำนวณจากอัตราเร่งในปัจจุบัน ขั้วแม่เหล็กโลกจะเคลื่อนพ้นเขตทวีปอเมริกาเหนือเข้าสู่แดนไซบีเรียตอนเหนือของทวีปเอเชียในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้  ในทำนองเดียวกันก็พบว่าองศาของเข็มทิศที่ตำทวีปอัฟริกาในซีกโลกใต้ขยับไปหนึ่งองศาในทุกสิบปี

 

นักวิทศาสตร์ต่างทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ในขณะที่แม่เหล็กโลกอ่อนกำลังลงเป็นศูนย์ในช่วงที่ไดนาโมของโลกนี้หยุดทำงานซึ่งกินเวลานับแสนปี   สองพันปีก่อนคริสตกาล มีบันทึกของชาวจีนที่ใช้หินแม่เหล็กในการรักษาบาดแผล  เช่นเดียวกับวิธีการรักษาของอียิปต์โบราณ ฮินดู และธิเบต ที่นำมาใช้คลายกล้าม  พระนางคลีโอพัตรามักสวมหินแม่เหล็กไว้ที่หน้าผากเพื่อต่อต้านความชรา anti-aging     นอกจากนี้มนุษย์อวกาศยังพบว่ากล้ามเนื้อของเขามักอ่อนแรงเมื่ออยู่ภายนอกแรงแม่เหล็กโลกเป็นเวลานานๆ เมื่อตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีการสูญเสียแคลเซียมไปจากกระดูกกว่า 80% ทีเดียว   ปัจจุบันแรงแม่เหล็กที่กำลังลดต่ำลง ทำให้เกิดอาการบางอย่างในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พลังของชีวิตกำลังลดต่ำลง    ในปี 1956 นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ดร.เคียวอิจิ นาคางะวะ รายงานว่าแม่เหล็กโลกได้ลดความเข้มลงไปครึ่งหนึ่ง และเขาได้ศึกษาว่าความเข้มที่ลดลงไปนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อมนุษย์   เขาพบว่าคนไข้ที่มาด้วยสาเหตุอ่อนกำลัง  กระสับกระส่ายนอนไม่หลับโดยหาสาเหตุไม่ได้ และมีการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ  เมื่อบำบัดด้วยแรงแม่เหล็กแล้วอาการต่างๆเหล่านั้นจะทุเลาหายไป  เขาสันนิษฐานว่าเป็นอิทธิพลของแม่เหล็กโลกที่อ่อนลง  เขาเสนอชื่อกลุ่มอาการที่ใช้แม่เหล็กบำบัดนี้ว่า magnetic deficiency syndrome หรือกลุ่มอาการขาดแม่เหล็ก   หากแม่เหล็กโลกส่งอิทธิพลต่อพลังในชีวิตเช่นนั้นแล้ว เราต้องพูดว่าสิ่งมีชีวิตต้องการอากาศ น้ำ อาหารและแรงแม่เหล็กโลกที่เหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิต 

 

นักวิทยาศาสตร์เฝ้าถามตัวเองมานานแล้วว่า นกและสัตว์ต่างๆที่อพยพหนีอากาศหนาว อาศัยแผนที่และอะไรเป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการอพยพย้ายถิ่นฐาน  การย้ายถิ่นฐานทุกครั้งนกและสัตว์เหล่านี้ไม่มีเข็มทิศ แต่มันไม่เคยหลงทาง  จากการศึกษาหลายปีของทีมดร.จอห์น บี ฟิลลิปส์ แห่งสถาบันเวอร์จิเนียเทคโนโลยี ร่วมกับทีมจากมหาวิทยาลัย เจ. ดับเบิลยู. เกอเธ่  เขารายงานว่า ตัวตอบรับบนจอตาของสัตว์ไวต่อสีในแสงธรรมชาติ แสงสีขาวประกอบด้วยแสงที่มีสีเจ็ดสีที่มีความยาวคลื่นต่างกันผสมกันอยู่ คือ ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด และแดง  สัตว์บางชนิดจะมีตัวตอบรับแสงสีเหล่านี้ต่างกัน สัตว์บางชนิดจะเห็นแสงอัลตราไวโอเลต (สีม่วง) ได้ดี ส่วนสัตว์บางอย่างจะเห็นแสงโพลาไรซ์ (แสงที่อยู่ในระนาบเดียวกัน) ได้ดี 

 

ถ้าเช่นนั้นแสงสีต่างๆเหล่านี้เกี่ยวพันกับเส้นแรงแม่เหล็กโลกหรือไม่  ดร.ฟิลลิปส์ อธิบายว่า สัตว์เหล่านี้จะมีรงควัตถุในจอประสาทตา  รงควัตถุเหล่านี้จะดูดซับแสงสีที่เห็นได้เป็นพิเศษนี้กระตุ้นขบวนการทางชีวเคมีทำให้เกิดการไหลของประจุไฟฟ้าเป็นกระแสประสาท  เขาพบว่าในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตัวตอบรับแสงไม่ได้อยุ่ในลูกตา แต่อยู่ในอวัยวะที่ชื่อว่า พีเนียลซึ่งอยู่ในส่วนหัวทำหน้าที่เสมือนตาดวงที่สาม การค้นพบของเขาสอดคล้องกับการศึกษาของ ดร.ทอร์สเติน ริทซ์ แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ที่พบว่า สนามแม่เหล็กจะกดดันให้รงวัตถุตอบรับเหล่านี้ปลดปล่อยพลังงานระดับต่างๆทำให้ตัวตัวรับหรือเซนเซอร์บนจอประสาทตอบสนองต่อแสงเพิ่มขึ้นหรือลดลง  ดังนั้นการตอบสนองต่อแสงจึงขึ้นกับทิศทางของสนามแม่เหล็กโลก  การทำงานของรงควัตถุในเซนเซอร์จึงทำหน้าที่เหมือนเข็มทิศในตัวสิ่งมีชีวิตนั่นเอง  คงพอจะนึกภาพออกนะครับว่า ถ้าแม่เหล็กโลกกลับขั้วโดยที่ขั้วแม่เหล็กโลกกำลังเปลี่ยนตำแหน่ง ในขณะเดียวกันเส้นแรงแม่เหล็กจางลง สัตว์เหล่านี้จะต้องมีการหลงทิศกลับบ้านไม่ถูก  ระบบนิเวศวิทยาจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

เอกสารอ้างอิง:

http://www.healthymagnets.com/cgi-local/SoftCart.exe/magnetic1.htm?E+scstore

http://www.eurekalert.org/pub_releases/2004-05/vt-bev051304.php

 

oricebook.jpg

ข้าว ของขวัญล้ำค่าจากธรรมชาติ  (ธันวาคม 2005)
 
 ข้าวเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่อุดมด้วยคุณค่า  เป็นอาหารหลักของคนกว่าครึ่งโลก  เมล็ดข้าวหนึ่งเม็ดประกอบด้วยส่วนเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก  ถัดเข้าไปจะเป็นชั้นรำที่เป็นเยื่อบางๆห่อหุ้มเม็ดข้าวขาวและจมูกข้าวไว้  ตัวเม็ดข้าวขาวที่เราบริโภคกัน ประกอบขึ้นจากโมเลกุลของแป้งที่อัดกันแน่นเป้นนุภาคเล็กๆนับล้านล้านอนุภาค  และส่วนของจมูกข้าวจะอยู่ปลายเมล็ด  เป็นส่วนของต้นอ่อนที่จะเจริญงอกงามเป็นต้นข้าวต่อไป  ในจมูกข้าวหรือคัพภะของข้าวนี้ เป็นแหล่งของเอนไซม์ วิตามิน และเกลือแร่ที่เกี่ยวข้องกับการงอกของเมล็ด   สำหรับส่วนของรำข้าวนั้นเป็นชั้นที่อุดมด้วยไขมันรำข้าว โปรตีน กากใยอาหาร และวิตามิน   เป็นที่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีการขัดสีข้าวสมัยใหม่ได้ขัดเอาชั้นรำสีคล้ำๆนี้ทิ้งไปพร้อมกับจมูกข้าว เหลือแต่ข้าวขาวที่เป็นแป้งล้วนๆให้เรารับประทานกัน   ผลของการขัดสีข้าวทำให้วิตามินบี 1 หายไป วิตามินบี 3 หายไป    วิตามินบี 6 หายไปอีก 90%  ธาตุแมงกานีสและฟอสฟอรัสหายไปครึ่งหนึ่ง  ธาตุเหล็กหายไป 60%  และกากใยอาหารเกือบทั้งหมดหายไปด้วย  เหลือแต่กากข้าวให้เรารับประทานกัน

ข้าวกล้องเหมาะเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก

จากงานค้นคว้าที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2003  ได้เน้นถึงความสำคัญของการเลือกบริโภคข้าวแบบเต็มเมล็ด (whole grain) เช่น ข้าวกล้องให้ผลดีต่อสุขภาพ มากกว่า ข้าวที่ผ่านการขัดสีจำพวกข้าวขัดขาว เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย

จากค้นคว้าของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ซึ่งเก็บข้อมูลจากนางพยาบาลจำนวน 74,097 คน ช่วงอายุระหว่าง 38-63 ปี เป็นเวลากว่า 12 ปี   พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง และข้าวเต็มเมล็ด แต่เกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากกับการรับประทานอาหารที่มาจากข้าวขัดสี    ไม่เพียงแต่ผู้หญิง ที่บริโภคข้าวเต็มเมล็ดอย่างสม่ำเสมอจะสามารถควบคุมให้น้ำหนักตัวคงที่ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่บริโภคอาหารประเภทเส้นใยอาหารสูงแล้ว  ยังพบว่ากลุ่มที่บริโภคข้าวเต็มเมล็ดยังมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานข้าวขัดขาวถึง 49%

สารอาหารในข้าวกล้องมีคุณสมบัติควบคุมระบบเผาผลาญในร่างกาย

ข้าวกล้อง มีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (low glycemic index) ซึ่งช่วยสร้างสมดุลให้กับระดับน้ำตาลในเลือดเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปรกติ ช่วยในการลดน้ำหนักและให้พลังงานแก่ร่างกายในระดับพอดี ไม่มีพลังงานส่วนเกินที่จะนำไปสะสมอันจะนำไปสู่ภาวะโรคอ้วน   จากงานวิจัยพบว่าในอาสาสมัครที่รับประทานข้าวกล้อง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าอาสาสมัครที่รับประทานข้าวขัดขาว  

อาหารที่ทำจากเมล็ดข้าวขัดขาวเช่น ขนมปังขาว คุกกี้ ขนมอบ พาสต้า  ไม่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวพันกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น  แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน (ประเภท 2) อีกด้วย  รวมไปถึงกลุ่มอาการโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการเผาผลาญอาหารในร่างกาย (เป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ)  พบว่า การรับประทานอาหารที่ประกอบจากข้าวกล้อง สามารถป้องกันตัวจากโรคร้ายดังกล่าวกล่าวถึงนี้ ลักษณะทั่วไปที่พบในกลุ่มอาการโรคที่เกี่ยวเนื่องกับ การเผาผลาญอาหารในร่างกาย คือ โรคอ้วนผิดปรกติ  หรือที่มีรูปร่างแบบหุ่นแอปเปิล   คนกลุ่มนี้มักพบว่ามีปริมาณคลอเรสเตอรอลชนิด HDL ต่ำ มีสารไขมันไตรกลีเซอไรด์ สูง และมีความดันโลหิตสูง

เมื่อบริโภคอาหารที่มีกากใยอาหารสูงเช่นข้าวกล้อง  จะทำให้กลุ่มอาการดังกล่าวลดลงได้ถึง 38% ในทางกลับกัน ผู้ทดลองที่ทานอาหารประเภทกากใยอาหารต่ำและเลือกทานแต่อาหารที่ผ่านกระบวนการขัดสีซึ่งมีค่า glycemic index สูง จะพบอาการบกพร่องทางการเผาผลาญสารอาหารของร่างกายสูงถึง 141% เมื่อเทียบกับผู้ที่ทานแต่อาหารที่มีกากใยสูงเช่น พืชตระกูลถั่ว ผัก และ ผลไม้    อนึ่ง glycemix index หรือ ค่าดัชนีไกลซิมิค  เป็นตัวชี้บ่งว่าอาหารชนิดนั้นมีอัตราการเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดได้เพียงใด  ยิ่งมีค่าดัชนีสูงก็ยิ่งมีอัตราการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสสูง   ดังนั้น อาหารที่มีกากใยอาหารสูง จะมีค่าดัชนีไกลซิมิคต่ำ เช่น ข้าวกล้อง และเมล็ดธัญญพืชต่างๆ

กรดไขมันในรำข้าวควบคุมระดับไขมันในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น้ำมันที่อยู่ในชั้นรำข้าว จัดเป็นไขมันสุดยอดที่ร่างกายต้องการ  ประกอบด้วยไขมันที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัว 20%, กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด MUFA (monounsaturated fatty acid คือมีพันธะคู่ของไฮโดรเจน 1 ตำแหน่ง) 40%  และไขมันไม่อิ่มตัวชนิด PUFA (polyunsaturated fatty acid คือมีพันธะคู่ของไฮโดรเจน 2-3 ตำแหน่ง) 40%    สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) รับรองว่าน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพ    น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเกินกว่า 10% มักจะทำให้ระดับคลอเรสเตอรอลสูงขึ้นด้วย   อย่างไรก็ตามหากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด MUFA มีมากกว่า 10% แล้วจะสามารถควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลให้คงที่ได้  นอกจากนี้น้ำมันรำข้าวยังจัดเป็นน้ำมันประเภทแตกตัวได้สูงกว่าน้ำมันจากพืชอื่นๆ   คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่กดดันให้ระดับคลอเลสเตอรอลในร่างกายลดลง

มีกรดไขมันบางชนิดที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องพึ่งพาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป   หากขาดกรดไขมันที่จำเป็นเหล่านี้ ร่างกายจะไม่สามารถสร้างพรอสตาแกลนดินส์(prostaglandins) ได้    พรอสตาแกลนดินส์มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก  ช่วยควบคุมความดันโลหิต, ป้องกันเลือดแข็งตัวภายในหลอดเลือด, ลดระดับคลอเรสเตอรอล, ช่วยให้มดลูกบีบรัดตัวในขณะคลอด,  ควบคุมรอบเดือน เป็นต้น   ในน้ำมันรำข้าวพบว่ามีกรดไขมันที่จำเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โอเลอิค (oleic) และ ไลโนเลอิค (linoleic)   นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอีกหลายชนิดที่ละลายอยู่ในไขมัน  ได้แก่ วิตามินอี ซึ่งอยู่ในรูปของ แกมมา โทโคไตรอินอล (g-tocotrienol)  ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ, แกมมาโอไรซานอล (g-oryzanol) ซึ่งมีบทบาททำให้โครงสร้างของผนังเซลล์ทำงานได้ดี  รวมทั้งลดระดับคลอเรสเตอรอลด้วย

การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม ปี 2000 ใน วารสาร American Journal of Clinical Nutrition   ได้ทดลองให้คนจำนวน 26 คน ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร 13-22 กรัม ทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ 13 คนเปลี่ยนการรับประทานโดยการเพิ่มรำข้าวที่สกัดน้ำมันออกต่ออีก 5 สัปดาห์อาทิตย์เพื่อเพิ่มปริมาณกากอาหารที่ทานอีกเท่าตัว     ส่วนพวกที่เหลืออีก 13 คนให้เปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่มีส่วนของรำข้าวที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบต่ออีกเป็นเวลา 10 อาทิตย์  พบว่าระดับคลอเรสเตอรอลในร่างกายของกลุ่มที่เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีส่วนของรำข้าวที่สกัดน้ำมันออกมีระดับคงที่ไม่ลดลง ในขณะที่ผู้ที่ทานรำข้าวที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบสามารถลดคลอเรสเตอรอล LDL ได้ถึง 7%   เนื่องจากรำข้าวที่ทดลองทานทั้งหมดนั้น ต่างก็มีไขมันอิ่มตัวคล้ายคลึงกัน นักวิจัยจึงสรุปว่า การลดลงของคลอเรสเตอรอลในกลุ่มผู้ที่ทานรำข้าวที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน มาจากองค์ประกอบที่เจือปนอยู่ในไขมันที่มีอยู่ในรำข้าวนั้น      นอกจากประโยชน์จากไขมันธรรมชาติในรำข้าวแล้ว ข้าวกล้องยังอุดมด้วยกากใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ธาตุแมกนีเซียม และ วิตามินบี

 

ricegrain.jpg
Varieties of rice grain

 

ข้าวกล้องมีสารลดความเครียดทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ

ข้าวเป็นพืชอาหารที่ประกอบด้วยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากาบา ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโนกลูตามิก  กาบา หรือ กรดแกมมาอะมิโนบิวไทริก (gamma amino butyric acid, GABA) เป็นอนุพันธ์หนึ่งของกรดอะมิโน  ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1883 ที่เบอร์ลิน ร่างกายคนเราสังเคราะห์กาบาที่สมองจากกรดอะมิโนกลูตาเมต โดยมีวิตามินบี 6 เป็นผู้ช่วยที่สำคัญ  กาบาจัดเป็นสารส่งต่อสัญญาณประสาท (neurotransmitter) ชนิดหนึ่ง สารส่งต่อสัญญาณประสาททำหน้าที่ส่งต่อสัญญาณประสาทจากเซลประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลหนึ่ง  เซลประสาทจะรับสัญญาณที่ส่งมาได้ต้องมีตัวต้อนรับสัญญาณ (neuroreceptor) บนผิวเซล  ตัวส่งสัญญาณประสาทต้องมีทั้งชนิดที่ส่งต่อสัญญาณ กับชนิดที่บอกให้หยุดส่ง  เพื่อให้มีการส่งสัญญาณประสาทและยกเลิกการส่งสัญญาณจึงจะทำให้ระบบประสาทสั่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทที่สำคัญของกาบาคือหน่วงหรือยับยั้งสารส่งสัญญาณประสาทชนิดอื่นๆ  สมองที่ได้รับการกระตุ้นมากเกินย่อมต้องการการยับยั้งมาถ่วงดุลย์    หากสมองได้รับการกระตุ้นมากเกิน จะทำให้นอนไม่หลับ ไม่ได้ผ่อนคลาย เครียด   กาบาจึงเป็นสารที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาและนอนหลับได้ เช่นเดียวกับยานอนหลับประเภทบาร์บิทูเรต และเบนโซไดอะซิแพท สามารถกระตุ้นตัวตอบรับในเซลประสาททำให้เกิดความผ่อนคลาย  ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการนอนหลับ การสั่นกระตุก และโรคพาร์กินสันส์ ต่างมีระดับกาบาผิดปกติจนขาดสมดุลทั้งสิ้น   เมื่อสมองหลั่งเคมีที่เป็นสัญญาณประสาทออกมามากมายโดยไม่มีตัวหน่วง กระแสประสาทจะส่งออกไปทำให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็ว เกร็ง กระตุก ต่อมน้ำลายควบคุมการหลั่งไม่ได้ อาการสั่นกระตุกดังกล่าวพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่     ประชากรในสหรัฐอเมริการ้อยละหนึ่ง หรือกว่าสองล้านห้าแสนคนมีอาการผิดปกติเนื่องจากมีระดับกาบาที่ผิดปกติ  นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ทำให้เห็นว่าสารเคมีในปริมาณน้อยๆเช่นกาบา กลับมีบทบาทที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก

อีกบทบาทหนึ่งของกาบาที่น่าสนใจคือ กาบาส่งเสริมให้ไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ลดลง  พบว่ากาบากระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตออกมา (human growth hormone, HGH)    ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตนี้ มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญไขมันเพื่อให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อ   ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้แก่ มีไขมันสะสมตามที่ต่างๆ และลดน้ำหนักยาก   ด้วยเหตุนี้ อาหารเสริมหลายชนิดทั้งที่เป็นสูตรสำหรับผู้สูงวัย และสูตรสำหรับนักกีฬา จึงเติมกาบาผสมลงไปด้วย  เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมน้ำหนัก มีสุขภาพที่ดี สามารถพักผ่อนและนอนหลับได้เต็มที่นั่นเอง  ผลงานวิจัยของ Kayahara และ Tukahara จากประเทศญี่ปุ่นระบุว่า  ข้าวกล้อง จะมีสารกาบา มากกว่าข้าวขัดขาวถึง 10 เท่า 

สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในข้าวกล้อง

ธาตุแมงกานีส  เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า ซุปเปอร์ออกไซด์  ดิสมิวเตส (superoxide dismutase, SOD)  ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบมากในไมโตคอนเดรียของเซลล์ร่างกาย (แหล่งสร้างพลังงานในเซลล์ร่างกายที่ใช้ออกซิเจนเป็นส่วนสำคัญ) ที่ช่วยป้องกันความเสียหายจากการปลดปล่อยอนุมูลอิสระระหว่างที่ร่างกายสร้างพลังงาน   ข้าวกล้อง หนึ่งถ้วยให้สารแมงกานีสถึง 88% ของจำนวนที่ร่างกายต้องการต่อวัน

ข้าวกล้องยังอุดมด้วยซิลิเนียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ด้วย  ข้าวกล้องหนึ่งถ้วยให้ซิลิเนียมประมาณ 27.3% ที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเป็นข้อดีที่สำคัญเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ ซิลิเนียมที่เพียงพอต่อร่างกายจากอาหารจานด่วนที่บริโภคกัน และแร่ธาตุอันนี้ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของมนุษย์ ซิลิเนียมเป็นสารประกอบที่สำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายหลายส่วนรวมถึงการสังเคราะห์ฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์   รวมทั้งระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ และ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน    

มีหลักฐานที่รวบรวมมาจากงานค้นคว้า การทดลอง และศึกษารูปแบบการเกิดมะเร็งในสัตว์ ระบุถึงความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างการรับประทานธาตุซิลิเนียมและการเกิดมะเร็ง มีกลไกมากมายได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายปฏิกิริยาต่อต้านการเกิดมะเร็งในร่างกายของซิลิเนียม    พบว่าซิลิเนียมมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมและสังเคราะห์ DNA ในเซลที่ถูกทำลายไป   ยับยั้งการพัฒนาของเซลมะเร็ง และกระตุ้นให้เซลล์เหล่านั้นตายลง  นอกจากนี้ซิลิเนียมสามารถเข้าเกาะกับโปรตีนหลายชนิด  รวมถึง กลูตาไธโอน เปอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง

กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส เป็นหนึ่งในเอนไซน์ที่ทำลายอนุมูลอิสระ ที่สำคัญที่สุดของร่างกาย   พบมากในตับเพื่อกำจัดโมเลกุลที่เป็นพิษ   เมื่อระดับของกลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส ลดต่ำลง โมเลกุลที่เป็นพิษที่หลงเหลืออยู่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ที่อยู่รอบข้าง โดยทำลายสารพันธุกรรมดีเอนเอ ของเซลล์นั้นๆ และส่งเสริมให้พัฒนาต่อไปเป็นเซลล์มะเร็ง   ซิลิเนียมยังมีบทบาทร่วมกับวิตามินอี ในระบบต่อต้านอนุมูลอิสระทั่วร่างกายของเรา    ซึ่งไม่เพียงแต่ป้องกันโรคมะเร็งเท่านั้น ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ และช่วยบรรเทาอาการหอบหืด  บรรเทาอาการปวดบวมของโรคไขข้ออักเสบอีกด้วย

วิตามินอี ที่ละลายอยู่ในน้ำมันรำข้าวพบทั้งชนิดที่เป็นโทโคเฟอรัล และโทโคไทรอีนอล  นอกจากนี้ยังพบ ออริซานอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต   ในเครื่องสำอางค์หลายชนิดจะเติมออริซานอลจากข้าวเพื่อปกป้องผิวจากอันตรายของรังสีดังกล่าว

คุณค่าทางอาหารอื่นๆของข้าวกล้อง

ข้าวกล้อง  มีธาตุแมกนีเซียมจากเมล็ดข้าวธรรมชาติ ผลการวิจัยพบว่าสารแมกนีเซียมมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของอาการหืดหอบ ลดความดันโลหิตสูง  ลดความถี่ของการปวดไมเกรน  ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจเฉียบพลัน และอาการชัก  แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยถ่วงดุลการทำงานของแคลเซียม แมกนีเซียมทำหน้าที่เป็นตัวสกัดการลำเลียงของแคลเซียมในเซลล์สมองซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ประสาท  และกระตุ้นระบบประสาทมากเกินไป ด้วยเหตุนี้แมกนีเซียมจึงช่วยให้ระบบประสาทรวมถึงหลอดเลือดและกล้ามเนื้อในส่วนที่ประสาทควบคุมรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าอาหารที่รับประทานเข้าไปมีแมกนีเซียมน้อยเกินไป จะมีผลให้แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ประสาทได้ไม่จำกัดทำให้สมองถูกกระตุ้นมากเกินไปโดยส่งข้อมูลและเป็นเหตุให้เกิดการหดตัวอย่างรุนแรง  ทำให้ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อเกร็ง (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมที่เกิดอาการหอบหืด) และปวดไมเกรน รวมทั้งเกิดตะคริว และอาการปวดล้า

นอกจากนี้ ข้าวกล้อง มีเส้นใยอาหารที่มีประโยชน์ (dietary fiber) ซึ่งวงการแพทย์รายงานว่า เส้นใยอาหารเหล่านี้ช่วยให้มีมวลอุจจาระเพิ่มขึ้น  มีผลช่วยบรรเทาอาการท้องผูก  ทำให้ลดการหมักหมมของเสียในลำไส้ และลดโอกาสการดูดซับสารพิษจากของเสียเข้าสู่ร่างกาย   จึงทำให้ลดโอกาสในการก่อเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้   จากรายงานของวารสาร American Journal of Gastroenterology ในเดือนกรกฎาคม ปี2004 ระบุว่า การรับประทานอาหารที่มีกากใยสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ถึง 13%

วิกฤตแม่โขง (มีนาคม 2009)

 

ผมได้มีโอกาสชมภาพถ่ายฝีมือคุณสุเทพ กฤษณาวารินทร์ ซึ่งเปิดการแสดงที่เซ็นทรัลเวิลด์ ในหัวข้อ สี่พันดอน เมื่อแม่น้ำโขงถูกคุกคาม  ภาพที่นำมาจัดทำนิทรรศการนอกจากจะสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทางศิลป์แล้วยังถ่ายทอดความเกี่ยวพันของแม่น้ำโขงสายเลือดชีวิตกับชุมชนสี่พันดอนได้เป็นอย่างดี ภาพจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องการสื่อกับทุกคนที่เป็นเจ้าของสายน้ำให้แสดงความรับผิดชอบที่มนุษย์พึงมีต่อธรรมชาติ  มนุษย์ได้พึ่งพาสายน้ำเป็นเส้นทางหล่อเลี้ยงชีวิต, เก็บเกี่ยวทรัพย์ในดินสองฟากฝั่งที่ราบลุ่มน้ำและสินในน้ำอีกด้วย  มนุษย์ได้ใช้เส้นทางน้ำในการติดต่อกับโลกภายนอก และเป็นต้นกำเนิดชุมชน, วิถีชีวิต, ก่อกำเนิดภูมิปัญญา ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละถิ่น

 

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหลักที่ถือกำเนิดจากที่ราบสูงธิเบตและไหลวกลงมาทางใต้ผ่านพม่า, ลาว, ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำไหลผ่านโตรกเขาเกาะแก่งเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ  เกาะแก่งสุดท้ายของแม่น้ำอยู่ทางตอนใต้ของลาวในแขวงจำปาสัก  กล่าวกันว่าเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของลำน้ำกินระยะทาง 14 กิโลเมตร  เกิดเป็นเกาะแก่งใหญ่น้อยกลางน้ำเป็นที่มาของสมญาสี่พันดอน  ทำให้เกิดม่านน้ำตกหลี่ผีซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไม่ผิดกับไนแองการาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   สายน้ำโขงโจนลงสู่ดินแดนกัมพูชาซึ่งอยู่ต่ำลงไป  ทำให้เกิดทะเลสาปน้ำจืดขนาดใหญ่ หรือโตนเลในฤดูน้ำหลาก  แม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามโดยพัดพาเอาดินทรายและความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติทำให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่มหึมา  เป็นผืนดินอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนามทางตอนใต้  ความอุดมของสายน้ำ, เศรษฐกิจ,วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และเกษตรกรรมกำลังจะถึงกาลวิบัติในอีกไม่นาน

 

จีนในฐานะประเทศต้นน้ำปล้นประโยชน์ของแม่โขงไปอย่างหน้าด้านๆโดยอ้างว่าการสร้างเขื่อนในส่วนต้นน้ำไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ในขณะที่รัฐบาลประเทศปลายน้ำมัวแต่สนใจผลประโยชน์ในกระเป๋าตนเองตามคุณลักษณะของความด้อยพัฒนา   คนที่เป็นเป็นเจ้าของสายน้ำโขงจึงได้แต่รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิในการใช้สายน้ำนี้อย่างเงียบๆ (voice of voiceless)  จีนมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อผันน้ำไว้ใช้เองและเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 8 โครงการ  สำเร็จไปแล้ว 3 โครงการ  อีกสองโครงการอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  ประเทศไทย, ลาวและกัมพูชา มีข้อตกลงที่จะผุดเขื่อนขึ้นอีก 11 แห่ง อ้างว่าใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า  ทุกเขื่อนต้องการขายไฟฟ้าซึ่งมีเกินความต้องการ โดยที่หนึ่งแห่งตั้งอยู่ในกัมพูชา, แปดแห่งอยู่ในลาว และสองแห่งที่เป็นเส้นอาณาเขตไทยนั้นอยู่ที่ปากชมและบ้านกุ่ม   เขื่อนแรกที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการนำร่องคือเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ประเทศลาว  อันจะมีผลให้น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผีดินแดนไนแองการาถูกลบไปจากแผนที่

 

อะไรเกิดขึ้นเมื่อผุดเขื่อนขึ้น  ประเทศจีนมีเขื่อนกว่า 25,800 แห่งทั่วประเทศ  เขื่อนขนาดยักษ์ที่เป็นเมกะโปรเจคคือเขื่อนกั้นลำน้ำแยงซีเกียง (the three gorges dam)  นับเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เป็นเขื่อนที่ใช้เงินสูงถึง สามหมื่นเก้าพันล้านดอลลาร์  มีข้อขัดข้องทางเทคนิคทางการก่อสร้าง ทำให้ต้องแก้แล้วแก้อีกหลายครั้ง  และเป็นเขื่อนที่ถูกวิพากษ์ในเรื่องคอรัปชั่น  ประมาณว่าการกั้นเขื่อนของแม่น้ำสายใหญ่เช่นแยงซี ทำให้เกิดทะเลสาปเหนือเขื่อนยาวถึง 600 กิโลเมตร (พอกับระยะทางกรุงเทพฯ-ลำปาง หรือ กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี กันเลยทีเดียว)  จีนต้องอพยพเมือง 13 เมืองที่อยู่ริมน้ำ จัดที่ทำกิน และแน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวน์วิทยาเปลี่ยนไป  จีนมีปัญหาเรื่องการจัดการแหล่งน้ำคุณภาพซึ่งเป็นที่หวั่นเกรงปัญหาสารพิษจากการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำเหนือเขื่อน มีผู้คำนวณว่าหากเขื่อนดังกล่าวสร้างเสร็จและรับน้ำเต็มที่  น้ำหนักของน้ำที่กดทับอาจทำให้แกนของโลกเปลี่ยนมุมเอียงไปได้เลยทีเดียว  โลกจะหมุนช้าลงและส่งผลให้ภูมิอากาศเปลี่ยนไป

 

จีนเป็นประเทศที่อ่อนไหวต่อการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากที่ราบสูงธิเบตทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเต็มไปด้วยรอยเลื่อนของเปลือกโลก  นักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานมากพอที่ทำให้เกิดสมมติฐานว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่เสฉวนเมื่อต้นปี 2008 นั้นเกิดจากทะเลสาปเหนือเขื่อน Reservoir–Induced Seismicity หรือ RIS เป็นการเก็บข้อมูลจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วโลกและมีข้อมูลเกี่ยวพันถึงความเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากเขื่อนกว่า 70 แห่ง โดยเฉพาะเขื่อนที่อยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลก   แรงกดอันมหาศาลของน้ำจะทำให้เกิดรอยแตกเล็กๆของแผ่นหินที่อยู่ข้างใต้และรอบๆอ่างเก็บน้ำ น้ำจะแทรกตัวผ่านเข้าไปในรอยเลื่อนกลายเป็นตัวหล่อลื่น เมื่อร่วมกับแรงกดมหาศาลทำให้เกิดการสไลด์ตัวของเปลือกโลก  รอยแตกเล็กๆของแผ่นหินและรอยเลื่อนอาจอยู่ไกลออกไปถึง 25 กิโลเมตร  ยิ่งทะเลสาปเหนือเขื่อนลึกเท่าใด (มากกว่า 100 เมตร) และมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากยิ่งขึ้น  เขื่อนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในจีนอยู่ในเขตรอยเลื่อนทั้งสิ้น เพราะเป็นต้นแม่น้ำสายหลักของโลก เช่น แยงซี โขง สาละวิน เป็นต้น

 

หากการสร้างเขื่อนเป็นการอ้างถึงการพัฒนาขนส่งทางน้ำแล้ว  การพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่โขงยิ่งฟังดูเป็นเรื่องยากเนื่องจากแม่โขงเต็มไปด้วยเกาะแก่ง และระดับน้ำที่ไม่แน่นอนเนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน  นับจากที่จีนสร้างเขื่อนสองแห่งแรกที่กั้นแม่โขงสำเร็จ  น้ำในแม่โขงไม่ได้มีระดับขึ้นลงตามฤดูกาลอีกต่อไป  น้ำในหน้าฝนจะมีระดับที่สูงผิดธรรมชาติเนื่องจากการเร่งระบายน้ำที่ลงมาจากต้นน้ำ  ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างนหนักกับประเทศปลายน้ำ เช่นที่เชียงราย  หลายหมู่บ้านหายไปกับสายน้ำและตลิ่งที่ยุบตัวหายไป  ในขณะที่หน้าแล้งน้ำในแม่โขงแห้งขอดถึงก้นแม่น้ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเพราะจีนผันน้ำไปใช้ในการเกษตร  นอกจากนี้ระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลาก็ขึ้นๆลงๆไม่แน่นอนตามแต่จีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อน หากเป็นเช่นนี้นานเข้ากิจกรรมทุกชนิดในทะเลสาปน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโตนเลจะหมดไป  น้ำเค็มจะทะลักเข้าสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้  บั้งไฟพญานาคเกิดน้อยลงทุกปี พญานาคที่อยู่คู่ชุมชนโขงมานับพันปีจะไม่มาปราฏให้เห็นอีก

 

แม่น้ำที่ไม่มีน้ำ ทะเลสาปที่แห้งเหือดพรากเอาสินในน้ำไปจนหมดสิ้น  ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ปลา เมื่อไม่มีปลาก็ไม่มีชาวประมงและห่วงโซ่อาหารถูกตัดขาด   ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพ  ปลาจะต้องว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อวางไข่  เขื่อนจะกั้นไม่ให้ปลาขึ้นไปถึงต้นน้ำได้  ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าเป็นสัตว์น้ำ, เป็นสาหร่ายพืชน้ำต่างๆจะถูกตัดขาดออกจากกันและระบบนิเวศน์เสียไปทั้งระบบในที่สุด  แม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่พบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่ง  ในอดีตมีการค้นพบพืชและสัตว์น้ำชนิดใหม่ๆตลอดเวลา  สัตว์น้ำหลายชนิดถูกรบกวนจนมาถึงภาวะวิกฤต  มันกำลังจะสูญพันธุ์  เช่นปลาบึกซึ่งเป็นปลาชนิดเดียวในโลกที่พบในแม่โขงกำลังจะหมดไปจากธรรมชาติ

ชาวสี่พันดอน ทางตอนใต้ของประเทศลาวใช้ชีวิตกับสายน้ำนี้มานาน  เขาสร้างหลี่ขึ้นขวางสายน้ำที่เชี่ยวกราก  หลี่ทำมาจากไม้ผูกกันไว้ตามแก่งน้ำเป็นคอกให้ปลาเข้ามาติดไม่ต่างอะไรจากโพงพางดักปลา  ชาวดำเนินชีวิตบนเส้นเชือกเส้นเดียวเพื่อข้ามแก่งอันเชี่ยวกรากไปเก็บปลาที่มาติดหลี่หาเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุ  สายน้ำที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อนทำให้จำนวนปลาลดลง  น้ำที่มาไม่แน่นอน และมาอย่างเชี่ยวกรากผิดปกติจนหลี่พังเป็นสัญญาณว่าอาชีพและเศรษฐกิจของชุมชนกำลังเปลี่ยนไป

 

แม่โขงจะเป็นอย่างไรต่อไปอยู่ที่เราในฐานะผู้สูญเสียประโยชน์ต้องเรียกร้อง อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องไกลตัว  มันจ่ออยู่ที่ปลายจมูกของเราทุกคนในภูมิภาคนี้ และมันจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน  ดอกไม้ที่ผู้อื่นเด็ดทิ้งไปแล้ว ตอนนี้แรงสั่นสะเทือนนั้นกำลังโถมใกล้เราเข้ามาทุกที มันสะเทือนไปทั้งดาวสีน้ำเงินดวงนี้

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นของท่านต่อการสร้างเขื่อนบนสายน้ำโขงตอนล่าง เพื่อเป็นเสียงเล็กๆเสียงหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสายน้ำนี้ได้ ที่นี่

 

สี่พันดอนของคุณสุเทพ กฤษณาวารินทร์ แสดงภาพและคำบรรยายทั้ง 28 รูปที่อยู่ในนิทรรศการติดตามได้จากที่นี่ http://www.savethemekong.org/#

 

ที่มา:

http://www.thaihealth.or.th/node/5509

http://en.wikipedia.org/wiki/Three_Gorges_Dam

http://blogs.nationalgeographic.com/blogs/news/chiefeditor/2008/10/three-gorges-dam.html

http://www.newsday.com/news/nationworld/bal-hs.earth07jan07,0,5860508.story

http://www.internationalrivers.org/en/node/1477

Kerr, R. and Stone, R. (2009), "A Human Trigger for the Great Quake of Sichuan?." Science 323: 322

Gupta, H.K. (2002), "A review of recent studies of triggered earthquakes by artificial water reservoirs with special emphasis on earthquakes in Koyna, India." Earth-Science Reviews 58: 279-310