One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames
My career

หุหุ  เรียนมาอย่าง ทำจริงอีกอย่าง  ชีวิตผลิกพันเหมือนมีคนกำหนดไว้ให้ก่อน

เมื่อผมเรียนจบ ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆเต็ม  อาจารย์สุมาลีพยายามหาทุนเพื่อจ้างผมทำงานวิจัยต่อเพื่อไม่ให้ผมเคว้ง  ตอนนั้นผมได้เงินเดือนๆละ 3,750 บาท ตามวุฒิในอัตราเท่าราชการ  เงินเดือนที่ผมได้มา ผมให้แม่ทั้งหมด ผมใช้วิธีขอเงินแม่ใช้เหมือนเดิม   ผมเลยได้เป็นลูกจ้างวิจัยทำงานอยู่ที่ภาควิชาต่ออีกปีครึ่ง เปิดโอกาสให้ผมได้ช่วยสอนในห้องปฏิบัติการในบางวิชา และ  การที่ผมอยู่ที่จุฬาฯนานเกือบห้าปี ทำให้ผมมีโอกาสรู้จักรุ่นพี่ขึ้นไปสามรุ่น และรุ่นน้องปริญญาตรี ปริญญาโทลงมาอีกห้ารุ่น    และแล้วโอกาสของผมก็มาถึง  อาจารย์มาบอกว่าอาจารย์ประพันธ์ที่คณะแพทย์กำลังหานักวิจัย  ครูแนะนำคุณไปแล้ว ให้ไปคุยกับหมอประพันธ์ดู  วันที่ 2 มกราคม ปี 2529 ผมเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของสถานเสาวภา กองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย ภายใต้โครงการ DiaTech ซึ่ง USAID เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน  ผมดีใจมากเพราะจ้างนอัตราสองเท่าของเงินเดือนราชการ  ส่วนที่จุฬาฯ อาจารย์ผมก็บอกให้เข้าไปทำตอนเย็นจนกว่าเงินทุนวิจัยจะหมด  ผมดีใจมากที่ได้เงินสองทาง

pinggrad.jpg
Age 26, Junior scientist at Diatech

งานที่ DiaTech เป็นศูนย์ประสานงานวิจัยระหว่างไทยและสหรัฐ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาเลเรีย  ประเมินเครื่องมือทางการแพทย์ว่าเหมาะสมกับการใช้งานในภาคสนามอย่างไร  ในขณะเดียวกันอาจารย์ประพันธ์ (ศาสตราจารย์ นพ. ประพันธ์ ภานุภาค) ไม่ปล่อยผมอยู่ว่างๆ  อาจารย์มอบงานวิจัยให้ผมทำคือ ให้ลองทำชุดตรวจโรคสำหรับมาเลเรีย และวัณโรค    ผมได้ปริญญามาสองใบทางจุลชีววิทยา แต่ผมไม่มีความถนัดทางวิทยาภูมิคุ้มกันเลย จุลชีววิทยาเป็นศาสตร์ว่าด้วยจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  สามารถแบ่งได้เป็นสาขาย่อย 4 สาขา คือ แบคทีเรีย, ราและยีสต์, ไวรัส, และภูมิคุ้มกันวิทยา   อาจารย์ไม่ได้แนะนำอะไรมากนัก  บอกแค่ว่า ให้ไปขอความรู้จากใครบ้าง  นัดรายงานความก้าวหน้าทุกวันจันทร์ 07.30 น.  มันไม่ง่ายเลยสำหรับผม มีแต่ความท้าทายที่ผมจะต้องไปแนะนำตัวกับใครต่อใครในคณะแพทย์ที่ผมไม่คุ้นเคยเพื่อขอข้อมูล จับแพะมาชนแกะว่ามีอะรที่เขาทำกันไปแล้วบ้าง มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำและเป็นช่องทางที่เราจะทำได้โดยอาศัยประโยชน์จากสิ่งที่มีคนทำมาแล้ว  ส่วนที่เสาวภา ผมก็ต้องหาที่ว่า โต๊ะแล็บผมอยู่ตรงไหน ผมจะเอาเครื่องแก้ว เครื่องมือที่ไหนมาใช้งานได้  สารเคมี ตู้เก็บสมบัติต่างๆ สิ่งเหล่านี้ผมต้องจัดการเองทั้งหมด    พี่ นฤมล เป็นหัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนา ของกองวิทยาศาสตร์ พี่มลเป็นธุระจัดหาที่ให้ผมลง  ผมรู้จักพี่มลตั้งแต่ผมมาเรียนที่จุฬาฯ   ตู่ เป็นเพื่อนที่เรียนเกษตรฯมาด้วยกันอยู่ที่แผนกวัคซีน  ตู่พาผมไปหาพี่ทิพจุฑา (ตู่ชื่อจุฑาทิพย์) พี่ทิพจุฑาช่วยผมจัดเตรียมกระต่ายและสัตว์ทดลองให้  งานผมราบรื่นเพราะอานิสงฆ์จากเพื่อๆพี่ๆเก่าๆทั้งหลายโดยแท้    ผมใช้วัคซีนบีซีจีฉีดเข้าใต้ผิวหนังกระต่าย  เมื่อครบกำหนดสองสัปดาห์ ผมจะเริ่มเจาะเลือดกระต่ายทุกสัปดาห์จนครบสามเดือน  ปัญหาคือผมไม่เคยเจะเลือดกระต่าย  ผมต้องเจาะเลือดจากหูของมัน บางครั้งจิ้มตั้งหลายรูก็ไม่ได้เลือดมา  บางทีก็แทงเข้าเส้นได้แต่มันสะบัดหัวไปก่อน ผมเคยแทงพลาดทะลุใบหูมันเลย   กว่าผมจะเจาะลือดชำนาญ กระต่ายก็หูระบมกันไปเป็นแถวๆ  ที่ทำให้ผมรู้สึกแย่คือ ผมจะใช้สำลีก้อนกับไม้หนีบบีบห้ามเลือด แต่คนเลี้ยงกระต่ายลืมเอาไม้หนีบออกตอนเลือดหยุด  กระต่ายตัวนั้นหูเน่าเป็นรูไปเลย    เมื่อกระต่ายตาย ผมก็ไม่คิดอยากจะทำงานกับสัตว์ทดลองอีกต่อไป   ผมมีงานวิจัยที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลพระปกเกล้าฯที่จันทบุรีด้วย ทำให้ผมขึ้นๆล่องกรุงเทพฯ-จันทบุรี ทุกสองเดือน

 

ทุกวันจันทร์ 07.30 น. จะมีการประชุมความคืบหน้า  ในการประชุมก็จะมี อาจารย์ประพันธ์ (ในฐานะรองผอ.กองวิทยาศาสตร์ ด้านวิจัยและพัฒนา)  แล้วก็อาจารย์แพทย์อีกสองท่าน พญ.มัทนา  ศ.นพ.ธีระวัฒน์   อาจารย์วัฒนะ  (พี่วัฒนะเป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปี)  และ นพ.เฮนรี่ ไวลด์ ที่ปรึกษากองวิทยาศาสตร์   ผมจะต้องรายงานความคืบหน้าของงาน และงานวิจัยที่มอบหมายให้เป็นพิเศษ ซึ่งมีทั้งคืบหน้าบ้าง ไม่คืบหน้าบ้าง  บรรดาอาจารย์ทั้งหลายจะคอมเมนต์และให้คำแนะนำ   เมื่อย้อนหลังกลับไป ผมดีใจที่ผมได้ประสพการณ์ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสเช่นนั้น   เพราะสำหรับ อาจารย์แพทย์ในจุฬาฯนั้น เกือบทั้งหมดเป็นลูกหม้อจุฬา  จบด้วยคะแนนเกียรตินิยม เป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล  ผมได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีคิด วิธีมองและวิธีแก้ไขปัญหา

diatec30.jpg
Age30, studentship at CU graduate school

ออฟฟิศของ DiaTech อยู่บนตึกอำนวยการ ซึ่งเป็นอาคารปัสตุระสภา (Pastuer Institute) เมื่อแรกตั้ง  ห้องที่ผมอยู่เป็นห้องตกแต่งใหม่ติดกับโถงบันได  พี่ดวงจันทร์เป็นเลขาฯและเป็นผู้จัดการสำนักงาน  แล้วก็มีดร.ไวลด์ ที่ปรึกษาของกองวิทยาศาสตร์ แล้วก็ผม  ในห้องจะมีส่วนของแพนทรี มีเครื่องถ่ายเอกสาร คอมพิวเตอร์  ห้องตรงข้ามจะเป็นห้องผู้อำนวยการขนาดใหญ่มากและสวยมากด้วยลายไม้แบบโบราณ  อาจารย์ศุภวัฒน์ (ศาสตราจารย์ นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์) เป็นผู้อำนวยการ   ถ้าผมจะไม่กล่าวถึงดร.ไวลด์เลยก็ดูจะไม่สมบูรณ์  ดร.ไวลด์ เป็นหมอ ชำนาญเรื่องโรคติดเชื้อ เกษียณอายุจากสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย  ท่านจะไป ช่วย round ward สอนนักเรียนแพทย์เป็นระยะ  แล้วก็จะไปออกตรวจคนไข้ที่โรงพยายาล BNH ด้วย   และเป็นเจ้านายคนหนึ่งของผม  ผมมีเจ้านายสามคน ถ้าเป็นสายบริหารคืออาจารย์ศุภวัฒน์  สายวิจัยก็อาจารย์ประพันธ์  สายงาน DiaTech ก็ดร.ไวลด์  ก็ต้องใช้วิจารณญาณเองว่าเรื่อไหนจะไปหาใครดี    ดร.ไวด์เป็นคนไฮเปอร์ขนาดหนัก คิดเร็ว ทำเร็ว โครมครามตามแบบอเมริกัน มีอารมณ์ขันตลอดเวลา ท่านมีบ้านอยู่ที่อลาสกา  คุณแอนนิตาจะมาเมืองไทยในทุกฤดูหนาว จะกลับไปก็หลังปีใหม่  ดร.ไวด์จะขับรถโฟล์คกอล์ฟพวงมาลัยซ้ายคันสีฟ้า  และมักชวนผมไปออกหน่วยค่ายผู้อพยพเขมรเสมอๆ   เนื่องจากเป็นพวงมาลัยซ้าย เวลาจะเร่งแซงมักทำให้ผมใจหายใจคว่ำเสมอ ผมต้องเป็นคนคอยดูรถสวนให้  ท่านไม่ค่อยจะปล่อยให้ปากท่านว่างเท่าไหร่ จะพูดไม่หยุด ผมได้แสลงอเมริกันก็ตอนคุยกันนี่แหละครับ   ความแอคทีฟ และความเอาจริงเอาจังทำให้ผมได้ตีพิมพ์บทความในวารสารต่างประเทศสี่ครั้งในระยะเวลาสามปีแรกที่ทำงานอยู่ที่นั่น

 
เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง ผมก็เริ่มไปทำงานสายตามความถนัดเดิม  ผมจะไปถึงที่ทำงานเก้าโมง และจะทำงานไปเรื่อยๆจนสองสามทุ่มถึงจะกลับบ้าน และสนุกกับงานจนผมมาทำงานในวันเสาร์   ผมทำงานอยู่สองปี และแล้วมีอยู่วันหนึ่งที่ดร.ไวลด์ถามผมว่า ไม่คิดจะเรียนต่อหรือ   ไหนๆก็ทำวิจัยอยู่แล้ว ทำไมไม่หาที่เรียนไปด้วยและเอางานวิจัยไปเป็นวิทยานิพนธ์  แล้วท่านก็นำเรื่องนี้ข้ามไปปรึกษาอาจารย์ศุภวัฒน์ทันที  เป็นความโชคดีของผมที่เจ้านายทั้งสามคนเห็นพ้องต้องกันและอนุญาตให้ผมไปเรียนต่อได้ โดยที่ให้ผมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย และผมได้รับเงินเดือนหมือนเดิม  ในปีรุ่งขึ้นผมกลับเข้าไปเป็นนักเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่งในหลักสูตรวิทยาสตร์ชีวภาพ วิชาเอกชีวเคมี  โดยทางทีมวิจัยกำหนดกันว่าให้อาจารย์ธีระวัฒน์จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและผมจะได้ทำงานวิจัยด้านไวรัสพิษสุนัขบ้า 
 
การมาทำงานที่เสาวภา เป็นบทหนึ่งของชีวิตที่พลิกผัน ผมใช้แทบไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพเฉพาะทางเลย ผมใช้แต่ความรู้พื้นฐานและมาเรียนเอาใหม่จากประสพการณ์ทำงาน  เพื่อเตรียมตัวเรียนต่อ ผมจึงได้เข้าไปฝึกหัดเพาะเลี้ยงเซลเพื่อเลี้ยงไวรัส  ประสพการณ์ต่างๆต่อยอดผมวันละเล็กวันละน้อย  ในวันที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ (กันยายน 2006) ผมไม่คาดฝันว่าผมจะได้กลับสู่สายอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิมที่ผมเรียนมาเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง  มันเป็นไปได้อย่างไรก้ต้องติดตามกันต่อไปนะครับ   สี่ห้าปีที่ผมทำงานกับ DiaTech ผมได้เพื่อนมากมายในคณะแพทย์ หลายคนยังคบกันต่อเนื่องยาวนาน เที่ยวด้วยกัน คุยกัน และยังคุยกันเกือบทุกวันผ่านอีเมล์  มีเพื่อนหลายๆคนที่ผมประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น ทวีพร อัญชลี อภิสิทธิ์ ผมคงจะหาโอกาสเล่าให้ฟังวันหลัง 

Enter supporting content here