One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames

Show & shows

musketeer.jpg
cowgirl VS cowboy

อีกแง่มุมของชีวิตบนเวที

ผมเริ่มรู้จักการร้องรำทำเพลงตั้งแต่ยังเด็ก  ผมเข้าอยู่ในกลุ่มนักร้องประสานเสียงของโบสถ์เมื่อผมอายุ 11 ปี จากเวทีหนึ่งไปอีกเวทีหนึ่ง  ผมจดบันทึกเรื่องราวบนเวทีของผมไว้ให้ระลึกถึงว่าผมเคยผ่านอะไรมาบ้าง แม้ว่าจะเป็นได้เพียงตัวเล็กๆที่ไม่มีใครจดจำได้ แต่ผมก็ภูมิใจและสนุกที่ผมทำอย่างเต็มที่แล้ว จะมีสักวันที่ผมเรียกความสนุกสนานในวันเก่าๆเหล่านั้นออกมาเมื่อผมกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง

ปฐมบทก่อนขึ้นเวที
 

ผมหัดร้องเพลงครั้งแรกตอนป5 ด้วยอายุเก้าขวบ  ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน  คุณอาเป็นผู้สอน  เพลงที่คุณอานำมาให้หัดมีตั้งแต่เพลงไทยเดิม  เพลงแรกที่ผมร้องได้คือ ลาวดวงเดือน   หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย เขมรไทรโยค, ลาวดำเนินทราย, ลาวเจริญศรีล และเพลงอื่นๆ  คุณอาสอนให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง ซึ่งผมยังจะได้มาจดทุกวันนี้ เช่น  ยามเย็น, ใกล้รุ่ง, เป็นต้น  รวมถึงเพลงปลุกใจต่างๆ  เช่น ต้นตระกูลไทย, กราวกีฬา,  เพื่อนไทย    การได้ฝึกอ่านไทย, ได้ฝึกอ่านทำนองเสนาะ,  การได้เรียนวิชาขับร้อง เป็นวิชาที่ติดตัวผมมาจนทุกวันนี้ทำให้ผมพูดได้ชัดถ้อยชัดคำเป็นจังหวะจะโคน  และหูของผมไม่เพี้ยน  ผมร้องเพลงด้วยถ้อยควบกล้ำชัดเจน และส่งผลไปถึงการร้องเพลงในภาษาอื่นๆด้วย   มีโรงเรียนเพียงไม่กี่แห่งเมื่อสี่สิบปีที่แล้วที่บรรจุวิชาขับร้องไว้ในหลักสูตรและเด็กนักเรียนทุกคนต้องมาสอบเอาคะแนนในวิชานี้  คุณอาเป็นหน่วยก้านผมเลยคัดให้ผมขึ้นเวทีประกวดของโรงเรียนในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่  ผมได้รางวัลที่สอง 

 

เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กชาย อายุเพียง 10 ปี เป็นครั้งแรกที่ผมสมัครเข้าร้องเพลงประสานเสียงกับนักร้องอื่นในโบสถ์  นักร้องในกลุ่มมีแต่รุ่นพี่ที่เรียนมัธยมปลาย  ผมจัดว่าอายุน้อยที่สุดและเสียงยังไม่แตก ง่ายที่สุดคือจับผมไปร้องเสียงโซปราโน  เนื่องจากโบสถ์ที่ผมอยู่เป็นเพียงศาลาธรรมซึ่งขึ้นกับโบสถ์ไมตรีจิต (โบสถ์โปรแตสแตนท์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุประมาณ 180 ปี)  ศาลาธรรมเป็นห้องแถวขนาดสองคูหา ครั้งแรกที่ผมออกไปร้องเพลงนอกสถานที่ก็ไปขึ้นเวทีโบสถ์ใหญ่ที่ไมตรีจิตในการนมัสการเช้าวันอาทิตย์  วันนั้นผมไปสาย อาจารย์สุพิชญ์ให้ผมไปเลือกเสื้อคลุมหรือ choir wrobe  สีขาวมาสวมทับและมีผ้าคลุมบ่าสีแดง ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าครั้งนั้นร้องเพลงอะไร 

 

เมื่อผมเรียนชั้นมัธยมต้น เสียงผมก็ยังไม่แตก  ผมร้องเสียงอัลโตเพราะมีนักร้องไม่พอ  ผมไปร่วมร้องเพลงกับคณะนักร้องประสานเสียงที่รวมคริสตจักรต่างๆในภาค 12 ของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยซึ่งรวมตัวกันซ้อมเพลงที่คริสตจักรไมตรีจิต ผมจำไม่ได้อีกเช่นกันว่าเขาซ้อมกันทุกวันอะไร จำได้แต่ซ้อมกันตอนหนึ่งทุ่มเลิกสามทุ่ม  จากเวทีโบสถ์เขาพาออกไปร้องที่เวทีลีลาศลุมพินี  จากเพลงประสานเสียงของ hymn ในโบสถ์ผมก็เริ่มร้องอะไรที่ยากขึ้น มักเป็นเพลงที่เขาเรียบเรียงเสียงประสานมาใหม่

แค่เวทีแรกก็ใหญ่เกินตัว

 

เมื่อผมอายุ 15 ผมไม่ได้ร้องเพลงอีกเพราะเสียงผมแตกและไม่คงที่  ประจวบกับเป็นเวลาที่ผมเล่นเปียโนเวลานมัสการวันอาทิตย์และคืนวันพุธ   อย่างไรก็ตามเมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ผมก็มีโอกาสร้องเพลงประสานเสียงอีกเมื่อเขาประกาศคัดนักร้องประสานเสียง 150 คนเพื่อร้องเพลงในงานนมัสการและคอนเสิร์ตฉลองโปรแตสแตนท์ครบรอบ 150 ปีในประเทศไทย เขาคัดให้ผมร้องเสียงเทนเนอร์  คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวชเป็นผู้อำนวยการด้านดนตรีและวาทยากร  การเข้าร่วมคณะนักร้องในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตการร้องเพลงประสานเสียงของผมสองประการ  

 

ประการแรก ผมได้รู้จักกับอาจารย์โรเบิร์ต ฮิลล์ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกา  อาจารย์เป็นลูกมิชชันนารีที่เกิดในเมืองไทยและเพิ่งจะจบปริญญาตรีดนตรี เอกวิชากีตาร์คลาสิก  อาจารย์มาช่วยฝึกสอนนักร้องและเรียบเรียงเสียงประสานหลายๆเพลงที่ขับร้อง  อาจารย์บรูซ แกสตันได้แต่งเพลง Gloria สำหรับเป็นเพลงเปิดให้นักร้องเดินเข้าที่ประชุม  ส่วนอาจารย์โรเบิร์ตได้แต่งทำนองเพลงจากพระธรรมสดุดีบทที่ 150 ใช้กลองยาว ฉิ่งและฉาบเป็นเครื่องดนตรีประกอบ  ในที่สุดคณะนักร้องตัดสินใจที่จะใช้เพลงของอาจารย์โรเบิร์ตแทนกลอริอา ซึ่งเข้าใจยากและเหมือนทำนองสวดมนต์      หลายปีต่อมา ผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ฮิลล์ในวิชาทฤษฎีดนตรี, การเรียบเรียงเสียงประสาน และผมเรียนคอนดักติ้งกับท่าน   นอกจากมหกรรมดนตรีฉลอง 150ปีโปรแตสแตนท์ในประเทศไทย ทางคณะกรรมการจัดงานได้ทำละครชีวประวัติของพระเยซู โดยทำให้เป็นละครร่วมสมัย  ศาตราจารย์ ดร.มัทนา รัตนิน เป็นผู้กำกับ  ละครเรื่องนี้ใช้ตัวละครชายมากกว่าตัวละครหญิง  เขาจึงมากวาดต้อนนักร้องชายไปคัดตัวเล่นละครเรื่องนี้ร่วมกับนักศึกษาภาควิชาศิลปการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนตัวไปด้วย  ผมต้องเล่นสองบทบาท ทั้งบทของชาวเยรูซาเล็ม และบทอัครสาวก  นับเป็นความแปลกใหม่สำหรับผม เพราะผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าการเล่นละครเป็นการสื่อด้วยภาษากาย และเป็นศิลปะของการใช้เสียง  ก่อนที่จะซ้อมละครทุกครั้งจะต้องมีการวอร์มร่างกาย การดัดตัวเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ  ต้องฝึกการเปล่งเสียง   การแสดงในครั้งนั้นจัดขึ้นสองรอบที่หอประชุม AUA ซึ่งผมสนุกและตื่นเต้นมากๆ

 

จงสรรเสริญพระเจ้าเถิด ผู้ทรงเนาว์ในวิหาร  สรรเสริญพระพลังการ ด้วยเสียงปี่และเสียงกลอง  (ร้องรับ)

สรรเสริญพระเดชา  ในบรรดาสิ่งสร้างสรรค์ สรรเสริญฤทธิ์มหันต์  ด้วยเสียงปี่และเสียงกลอง  (ร้องรับ)

(ร้องรับ)  ทั้งเสียงฉาบและฉิ่ง    อย่าหยุดนิ่งร่ายรำฉลอง ขลุ่ยพิณเปล่งทำนอง  สรรเสริญซ้องสาธุการ ชโย

 

ประการที่สอง ในปีรุ่งขึ้นคณะนักร้องกรุงเทพฯผสม Bangkok combined choir ขาดแคลนนักร้องอย่างหนักจนแทบต้องยกเลิกการแสดงเพลงชุดเมสซาย  อาจารย์มาลัยวัลย์และอาจารย์ทิวธวัช พันธุพงศ์ เชิญชวนให้นักร้องคริสเตียนไทยไปร่วมการฝึกซ้อมด้วย  อาจารย์ฮัดจินส์พาผมไปฟังเมสซายครั้งแรกเมื่อผมไปเรียนเปียโนกับอาจารย์ตอนผมอายุ 14 ปี  ผมตื่นตาตื่นใจกับครั้งแรกอย่างที่ลืมไม่ลง  อาจารย์บรูซ กาสตันเป็นผู้อำนวยเพลง  นักร้องประสานเสียงเป็นชาวต่างชาติกว่าร้อยละ 80  มีนักร้องไทยร่วมอยู่ด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยพายัพ  อาจารย์บรูซจะอำนวยเพลงไปด้วย เล่นฮาร์พซิคอร์ดไปด้วยร่วมกับวงโปรมิวสิกา    ผมเป็นแฟนการแสดงเมสซายทุกปีจนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย  เมื่อโอกาสดีๆอย่างนี้มาถึง ผมจึงต้องฉวยไว้   การฝึกซ้อมเพลงเมสซายเพียงสิบครั้งก่อนขึ้นแสดงไม่ใช่เรื่องง่าย  ผมจึงต้องเกาะรุ่นพี่ที่ร้องเก่งๆ   การไม่ได้เรียนร้องเพลงอย่างจริงๆจังๆ  ทำให้ผมอ่านสเกลร้องเพลงไม่ได้ ทั้งยังไม่รู้จักการจับ pitch ของเสียงจากเสียงร้องอื่นๆ หรือเสียงเครื่องดนตรีที่แทนเสียงเทนเนอร์ในวงออเคสตรา ทำให้ผมต้องฝึกกับเปียโนอย่างยากเย็น   กว่าผมจะร้องได้อย่างชำนาญก็เป็นเวลาหลายปี

bcc.jpg
Bangkok combined choir, Dec.1994

16 ปีที่ผมร้องเพลงประสานเสียงชุด Handel’s Messiah  ผมได้ประสพการณ์มากมายทั้งกับผู้ฝึกสอนเพลง  กับคอนดักเตอร์ที่แต่ละท่านตีความ (interpret) และนำเสนอเพลงต่างกัน  คอนดักเตอร์ในใจผมคือ ฮันส์ กุนเตอร์ โมเมอร์  ชาวเยอรมันนี ที่เข้มงวด ละเอียดกับทุกโน๊ต     จะมีการซ้อมแยกกันระหว่างวง, วงและนักร้องเดี่ยว  แล้วจึงมารวมกับนักร้องประสานเสียง  ผมได้เห็นท่านสอนเทคนิคของเครื่องสาย วิธีการลากคันชักในขณะที่เราซ้อมรวมวงกัน   ในระหว่างที่รอซ้อมเป็นส่วนๆ ตาผมก็ไล่มองไปตั้งแต่วิธีการจัดวง ตำแหน่งต่างๆของดนตรีแต่ละชิ้น   หูผมก็ไล่ถอดเครื่องดนตรีเหล่านั้นจาก piano accompanied score ทำให้ผมเริ่มเข้าในว่าเครื่องดนตรีชิ้นไหนเล่นในไลน์ของของเสียงอะไร  ทำให้ผมจับพิทช์ของเสียงเทนเนอร์ได้ในเวลาต่อมา ซึ่งช่วยคนที่ไม่มี perfect pitch อย่างผมเป็นอันมาก   มีอยู่ปีหนึ่งผมจำชื่อคอนดักเตอร์ไม่ได้เสียแล้ว  จำได้แต่ว่าท่านเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกดนตรีโรงเรียนนานาชาติที่นนทบุรี  ปีนั้นเป็นปีที่สนุกสนานมาก เพราะท่านใช้เวลาก่อนการฝึกซ้อมหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันหลายสัปดาห์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะดนตรีแบบบาโร๊คให้นักร้องที่สนใจฟัง โดยใช้เพลงเมสซายเป็นตัวอย่าง     ในช่วงเวลา 16 ปี  เราได้เรียนกับผู้ฝึกสอนเพลง, นักดนตรี, นักเปียโน ทั้งไทยและเทศหลายสิบคน  ทำให้ผมเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของครูแต่ละคน 

 

ผมไม่ได้ครูพักลักจำเฉพาะแต่กับคอนดักเตอร์ แต่นักร้องเดี่ยวก็โดนไปด้วย ทั้งเทคนิคการใช้รีจิสเตรชั่นต่างๆ, การแบ่งประโยคเพื่อหายใจ, เทคนิคการโปรเจคเสียง   นอกจากการร้องเพลงกับคณะนักร้องกรุงเทพผสมแล้ว ผมก็ยังไปฝึกเสียงเพิ่มเติมที่คริสตจักรสะพานเหลือง  ครูที่สอนผมคือศาสนาจารย์ริชาร์ด เกรเกอรี   แม้ว่าจะเป็นการเรียนเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่สิ่งที่ผมได้รับในเวลาอันสั้นนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของการใช้เสียงร้องเพลง และมันจะติดตัวผมตลอดไป   ถ้าจะให้ผมเปรียบการเปล่งเสียงให้ถูกวิธี ก็คงเหมือนกับการลากคันชักด้วยน้ำหนักของหางม้าที่กดชักลงบนสายเปล่าของซออย่างเหมาะสม   สิ่งที่ครูสอนมีเพียง การวางตำแหน่งโครงสร้างของร่างกายในขณะร้องเพลง  ครูสอนวิธีการหายใจและการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆเพื่อบังคับลมให้ผ่านสายเสียงไปสั่นสะเทือนในช่องกังวานของอก คอและโพรงจมูก  หลักการเพียงเท่านั้นก็สามารถเปลี่ยนคุณภาพของเสียงจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว  หากผมสอนใครร้องเพลง ผมก็จะถ่ายทอดพื้นฐานอย่างที่ครูของผมถ่ายทอดให้ผม    ในช่วงท้ายของหลักสูตร 12 สัปดาห์ ผมร่วมร้องเพลงชุด Stainer’s Crucificxion  โดยอาจารย์วิชัย ปัญญางามเป็นผู้อำนวยเพลง 

nyny.jpg
New York, New York with The resonance, 1994

เกียรติยศของชีวิต

 

ในช่วงปีท้ายๆของการร้องเพลงกับคณะนักร้องกรุงเทพฯผสม ผมได้ขับร้องเพลงประสานเสียงหน้าพระที่นั่งในโอกาสเฉลิมพระชนม์ครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถร่วมกับ Bangkok Festival Choir ซึ่งคุณหญิงมาลัยวัลย์เป็นผู้อำนวยเพลง  ธีมของงานคือ แม่  ได้ใช้ Hail, all hail to the queen จากอุปรากรเรื่อง The Trojans เป็นเพลงเปิดงาน และเพลงอื่นๆเช่น Bach-Gounod’s Ave Maria, O divine Redeemer, The Lord’s prayer    ปีครึ่งหลังของปี 1994  ผมคัดตัวเป็นนักร้องประสานเสียงชาย  The Resonance เพื่อร้องเพลงกับ Wattana Glee club ซึ่งเป็นคณะนักร้องสตรีศิษย์เก่าวัฒนาวิทยาลัย ในโอกาส คืนความหลัง  วังหลัง-วัฒนา 120 ปี Musical memories” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ได้ร้องหลายเพลงเลยไม่ว่าจะเป็น  Oh Happy day, ข้างขึ้นเดือนหงาย,  Heal the world, We need a little Christmas, O Holy night และ A capella ชายล้วนสำหรับ New York, New York

 

ผมได้มีโอกาสร้องเพลงประสานเสียงหน้าพระที่นั่งอีกสองครั้ง   ในมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในมหามงคลสมัยเจริญพระชนม์พรรษา 5 รอบ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 กันยายน 1992    และในงานมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในมหามงคลสมัยเจริญพระชนม์พรรษา 6 รอบ  ในการแสดง “Grand concert” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เมื่อ 12 กันยายน 2004  โดยร้องเพลง Regina Coeli หรือ Easter Hymn ในอุปรากร Cavalleria Rusticana ของ Mascagni ร่วมกับนักร้องอุปรากรระดับโลกอย่าง Julia Migenes และเพลงแสงส่องไทย โดยมีบัณฑิต อึ้งรังษีเป็นผู้อำนวยเพลงร่วมกับวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตรา  น่าเสียดายที่ระหว่างตั้งแถวรอขึ้นแสดง ผมยืนติดกับ Mickael Pletnev นักเปียโนและวาทยากรก้องโลกจากรัสเซีย และ Julia Migenes  ตอนนั้นไม่มีใครพกปากกาไม่นั้นผมจะต้องขอให้เขาจารึกชื่อไว้ในหนังสือสูจิบัตรของผมอย่างแน่นอน  ผมยืนมองมิคาเอลเล่น Tchikovski’s Piano Concerto no.1  ในระยะห่างสิบกว่าเมตรด้วยความทึ่งทั้งๆที่เขากำลังป่วยจากอาหารเป็นพิษ  รัศมีของมิคาเอลข่มวาทยากรอย่างบัณฑิต อึ้งรังษีเสียมิดเลย   สำหรับ Regina Coeli นั้น เป็นเพลงที่จูเลียเลือกมาว่าอยากร้องกับนักร้องประสานเสียง ผมเห็นว่าคุณบัณฑิตสามารถตีความหมายของเพลงนี้ได้อย่างดี  สามารถแก้ข้อบกพร่องของนักร้องประสานเสียง  ผมร้องเองยังขนลุกเองไปด้วย

 

ผมถือว่าการได้ขับร้องเพลงหน้าพระที่นั่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่นักร้องได้รับ  ผมมีโอกาสขับร้องเพลงหน้าพระที่นั่งถึง 4 ครั้ง

southpacific1.jpg
Sing with BMS

เปลี่ยนเวที เปลี่ยนสีสัน

 

ผมมาถึงจุดอิ่มตัวกับการร้องเพลงเมสซายเมื่อวงไม่เปลี่ยนผู้ฝึกซ้อมและผู้นำเพลงติดกันถึงสามปี และผมทราบว่ายังเป็นผู้นำเดิมๆอีกในปีถัดไป  ในปีสุดท้าย (1994) ที่ผมร้องเพลงชุด Messiah  มีคนนำใบปลิวมาแจกคณะนักร้องเชิญชวนให้ไปร้องเพลงร่วมกับ Bangkok Music Society (BMS) เขาจะเปิดการแสดง Mozart’s Requiem ในเดือนเมษายน และ Orff’s Carmina Burana ในเดือนกรกฎาคม  ผมตัดสินใจที่จะไปร่วมคัดตัวด้วย    เป็นการบังเอิญอย่างที่สุดที่สติวดิโอของท่านผู้หญิงพวงร้อยอยู่หลังที่ทำงานผมพอดี  ในที่สุดผมก็ผ่านการคัดตัวเป็นนักร้องเสียงเทนเนอร์กับวง BMS  เป็นอีกบทหนึ่งของชีวิตการร้องเพลงของผมที่ผมไม่มีวันลืม  เกรแฮมเทย์เลอร์เป็นผู้อำนวยเพลงและผู้ฝึกสอน  ผมร้องเพลงกับ BMS อยู่ 4 ปีเต็ม เป็นสี่ปีที่สนุกสนาน  เราซ้อมเพลงกันทุกคืนวันพุธที่บ้านท่านผู้หญิงพวงร้อย สนิทวงศ์   ท่านมักจะนั่งรถเข็นมาฟังพวกเราซ้อมเพลงกันอยู่เสมอๆ  มีการแสดงปีละ 3-4 ครั้ง จากการซ้อมสัปดาห์ละครั้งก็กลายเป็นหลายครั้ง    เพลงที่นำมาขับร้องมีความหลากหลายตั้งแต่ บาโร๊ค, คลาสิก, ป๊อบ, มิวสิคัล  ผมได้เล่นเป็นตัวประกอบเล็กๆในละครเพลงหลายครั้ง  การที่ผมก้าวออกจากแวดวงดนตรีของคริสตจักรทำให้ผมได้เห็นโลกกว้าง  โลกดนตรีที่ผมไม่เคยแหวกม่านเยี่ยมหน้าออกมากว่ายี่สิบปี   สีสันของมันช่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

 

การร่วมร้องเพลงกับ BMS นำผมขยายวงไปร้องเพลงกับคณะอื่นๆอีกสองสามคณะนอกวงการคริสตจักรซึ่งผมจะได้เล่าเป็นเรื่องๆไป   สมาชิกของ BMS มีทั้งชาวไทยและเทศ  เฉพาะนักร้องเทนเนอร์ที่เป็นคนไทยเกือบทั้งหมด และเรามีกันอย่างมาก 6-7 ชีวิต   ส่วนพวกเบสมีคละกันไป แถมยังเป็นพวก sight-reading แม่นมาก    แต่เทนเนอร์อย่างพวกเราก็ประคองกันไปได้แม้ว่าเราจะไม่เก่งอย่างเสียงเบสและเรายังต้องแบ่งเป็นเทนเนอร์ 1 และ 2   ในบางครั้งที่ไปซ้อมเหลือผมคนเดียวก็เคย  เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งของผมคือ นักร้องชายเกือบทั้งหมดจบในสายวิทยาศาสตร์  (สถาปัตยฯ, วิศวฯ, วิทยาศาสตร์, คอมพิวเตอร์, บัญชี)  มีเพียงสองคนเท่านั้นที่เรียนทางด้านดุริยางคศิลป์โดยตรง

 

ในช่วงก่อนอีสเตอร์ปี 1995  ผมมีผลงานแรกกับ BMS ในการแสดง Mozart’s Requiem โดย Graham Taylor เป็นผู้อำนวยเพลงและผู้ฝึกสอน   และร้องเพลงในชุด Orff’s Carmina Burana  ร่วมกับเปียโนสองหลังและเครื่องให้จังหวะ โดยมี Graham Taylor เป็นผู้อำนวยเพลง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 30 ตุลาคม 1996    เรามี Christmas concert เกือบทุกปี  ในปีแรกๆเราร้อง  Silent night, holy night,  The turtle dove, Blow, blow, thou winter wind (from Shakespeare’s As you like it), Wassail song, Mary’s little boy child, Away in a manger เป็นต้น

 

การร่วมงานกับ BMS ทำให้ผมมีโอกาสร้องเพลงหลายแนว หลายภาษาทั้งละติน, อิตาลี, เยอรมัน และอื่นๆ   Opera Choruses  เป็นงานที่สนุกอีกชิ้นหนึ่งโดยนำโอเปราเพลงเด่นๆที่เป็นที่นิยมรับฟังกัน ในฉบับที่ John Rutter เรียบเรียงขึ้นมาใหม่มาขับร้อง ได้แก่ Polovtsian dances (Borodin), Easter Hymn (Mascagni), Humming chorus (Puccini), Dido’s lament, and final chorus (Purcell), Anvil chorus (Verdi), Pilgrims’ chorus (Wagner), procession and chorale (Wagner)   นอกจากนี้ BMS มักจะจัดงานหารายได้ด้วย home concert บ้าง  หรือไปเช่าสถานที่เช่น เกอเธ่, หอประชุมปรีดี พนมยงค์ เพื่อจัดคอนเสิร์ตเล็กอย่าง A little night music  และนำเพลงที่เป็นที่นิยมฟังกันอย่าง  Danny boy, เงาไม้, บัวขาว มาขับร้องกัน  นับว่าผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการร่วมงานกับ BMS ที่ผมจดจำและมีเรื่องเล่าได้ไม่รู้จบ   งานร้องเพลงอื่นๆที่ร่วมกับ BMS เท่าที่ผมพอจะรวบรวมได้มี

Handel’s Four Coronation Anthems, Faure’s Requiem, Gregorio Allegri’s Miserere mei Deus, Faure’s Cantique De Jean Racine 

 

southpacific2.jpg
South Pacific

โอ้ ลั๊ล ลา

 

ในระหว่างที่ผมร่วมงานกับ BMS ผมมีโอกาสดีที่ได้ร้องและรับบทตัวประกอบเล็กๆในมิวสิคัลถึง 4 เรื่อง   The Phantom of the Opera ของ Andrew Lloyd Weber และ Les Miserables  ของ Cameron Mackintosh   มิวสิคัลทั้งสองเรื่องนี้เปิดการแสดงสองครั้ง  ครั้งแรกแสดงที่หอประชุมเกอเธ่  เป็นการขับร้องของนักร้องเดี่ยวและกลุ่มประสานเสียงโดยคัดมาเฉพาะเพลงที่เด่นๆ  ผลจากการแสดงครั้งนั้นได้รับการเรียกร้องให้จัดเป็น semi-staged performance  ซึ่งในการแสดงครั้งที่สอง ได้จัดการแสดงที่โรงแรมเพรสซิเดนท์  มีการแต่งกายและจัดฉากแสดง  นับเป็นละครเพลงสองเรื่องแรกของผม แค่เป็นตัวประกอบเดินเข้าเดินออกก็ปลื้มแล้วครับ

 

The Merry Widow ของ Franz Lehar’ เปิดการแสดงที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมี Graham Taylor เป็นผู้อำนวยเพลงที่ออร์แกน และมีวงเชมเบอร์เล่นคลอไปด้วย   การร้องเพลงชุดนี้ ทางกลุ่มทำเป็นละครเวที เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่งานเลี้ยงของสถานทูต จึงต้องมีการแต่งกายให้สมจริง  เมื่อตอนที่ผมเล่น Phantom of the Opera ผมเช่าชุดทักซิโดมาครั้งหนึ่งแล้ว  ผมคิดว่าผมยังคงร้องเพลงกับวงไปอีกหลายปี ผมจึงตัดสินใจไปตัดทักซิโดไว้เป็นของตนเองหนึ่งชุด  เมื่อตัดมาแล้วผมก็ได้ใช้อยู่เสมอๆ  เมื่อปีที่แล้วน้องผมแต่งงาน ผมนำมาลองปรากฏว่าผมต้องลดเอวลงไปเกือบสองนิ้วเพื่อให้สวมกางเกงได้ แต่ผมก็ทำได้นับว่าเป็นชุดที่ตัดมาแล้วคุ้มจริงๆ  

 

South Pacific ของ Richard Rogers และ Oscar Hammerstein เป็นมิวสิคัลที่สนุกที่สุดเรื่องหนึ่งของผม  มีการแต่งกายและจัดฉากเป็น semi-staged  ผมได้เล่นบทเป็นทหารเรือ  ผมตื่นเต้นกับการแสดงในรอบนี้ซึ่งเป็นการหาทุนให้มูลนิธิโสสะ  เนื่องจากสมเด็จพระพี่นาง (ฐานันดรในขณะนั้น) เสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรอย่างใกล้ชิด  และได้ประทานตะลุ่มเบญจรงค์เล็กๆให้หนึ่งอันยังเก็บไว้ในตู้จนทุกวันนี้

30 เมษายน 1996  ผมร่วมร้องเพลงประสานเสียง รากแก้วของแผ่นดิน ของคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรณ์ ร่วมกับวง World Philharmonic Orchestra  การซ้อมกับวงครั้งแรกทำให้ผมต้องขนลุกตั้งชัน  นักดนตรีระดับโลก 105 ชีวิต  ลำพังดับเบิลเบสก็ 10 ตัวแล้ว  เสียงของวงออเคสตรากระหึ่มในหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมข่มให้ผมเหลือตัวเล็กนิดเดียว    โทรทัศน์ช่อง 11 ได้บันทึกเทป และได้ตัดส่วนหนึ่งของเพลงเพื่อเป็นภาพนำเข้าสู่ข่าวภาคค่ำ  หน้าผมปรากฏเต็มจอและแช่ภาพอยู่หลายวินาที ให้เพื่อนๆและคนรู้จักได้โทรศัพท์มาทักทายกัน    ผมสืบค้นทางอินเทอร์เนตพบบทความของสื่อมวลชนที่มีต่อการแสดงดนตรีครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร  ลองอ่านดูนะครับ   รายการแสดงของวงเวิร์ลด์ฟิลฮาร์โมนิกเป็นส่วนหนึ่งของรายการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในคืนวันที่ 30 เมษายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง จึงมีการตระเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ ได้มีการตั้งชื่อรายการนี้ว่า "The Soul of the Nation" (เรียกเป็นพากย์ไทยว่า "รากแก้วของแผ่นดิน") รายการจึงเริ่มด้วยคีตนิพนธ์ชิ้นใหม่ ซึ่งคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ เป็นผู้ประพันธ์ทั้งทำนองและคำร้อง โดยเบอร์นาร์ด ซัมเนอร์ (Bernard Sumner) เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ผมเดาใจท่านวาทยกรฝีมือระดับนานาชาติคือ มุง วุน ชุง (Myung Whun Chung) ไม่ออกว่าท่านคิดอย่างไร เมื่อได้เห็นโน้ตของเพลงนี้เป็นครั้งแรก จากการที่ได้เห็นกิริยามารยาทของท่านบนเวทีแสดงโดยเฉพาะในตอนท้ายรายการ (ซึ่งผมจะกลับมาพูดอีกครั้งในตอนท้าย) สังเกตได้ว่าท่านเป็นคนสุภาพมาก เมื่อท่านตกปากรับคำไปแล้วว่าจะมากำกับวงในโอกาสเป็นมหามงคลเช่นนี้ ท่านก็คงพร้อมที่จะให้เกียรติแก่เจ้าภาพ ไม่ว่าเพลงที่จะบรรเลงจะใกล้เคียงกับฮอลลีวู้ดเพียงใด "The Soul of the Nation" เป็นเพลงที่มุ่งจะปลุกศรัทธาของผู้ฟังด้วยคีตศิลป์อันโอ่อ่าโอฬาร แต่ที่น่าเห็นใจคีตกวีที่เรื้อเวทีไปนาน ผลงานที่ออกมาจึงเป็นความโอ่อ่าของจอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ใน Star Wars และมีบางตอนที่ชวนให้คิดถึงความสง่างามของ Pomp and Circumstance ของเซอร์เอดวาร์ด เอลการ์ (Sir Edward Elgar) ในตอนที่นักร้องประสานเสียงร่วมร้องกับวงนั้น ผมอดคิดถึงเพลงปลุกใจ "เปรี้ยง เปรี้ยง ดั่งเสียงฟ้าฟาด.." ไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผมขอชมเชยนักร้องประสานเสียงว่าฝึกซ้อมมาดีมาก สำหรับวงดนตรีนั้น เรียกได้ว่า "สบายมาก" เพราะเพลงทำนองนี้พวกนักดนตรีอาชีพเล่นได้โดยฉับพลัน (อย่างที่เรียกว่า sight-read) และท่านวาทยกรก็กำกับวงได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สังเกตได้ว่าถ้าตอนไหนท่านเห็นว่าอาจจะยังมีตะเข็บหลุดลุ่ยอยู่บ้าง ท่านก็ใช้ความชำนาญกลบข้อบกพร่องเหล่านี้ด้วยเสียงดังอึงคะนึง

asiangames.jpg
With conductor, 13th Asian games in BKK

อาจเป็นเพียงโอกาสเดียวของชีวิต

 

ในปลายปี 1998 นี้เอง ผมได้คัดตัวเข้าเป็นนักร้องประสานเสียงเทนเนอร์เพื่อขับร้องเพลงในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ   การร้องเพลงสองวงทำเอาผมเหนื่อยเอาการอยู่ แต่ก็สนุกมากเพราะเจอเพื่อต่างคริตจักร และยังเจอเพื่อนเก่าๆตอนเรียนมหาวิทยาลัยหลายคน  โดยใช้คณะนักร้องคริสเตียนไทยเป็นแกน  อาจารย์จารุณี หงส์จารุเป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อม และผู้อำนวยเพลงบางเพลง   จากประสพการณ์ร้องเพลงหลายๆปี ผมได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มนักร้องที่มีทักษะและน้ำเสียงดีเพื่ออัดแผ่น เขาคัดนักร้องออกมา 50 ท่านจากทั้งหมด 180 กว่าท่าน  การอัดแผ่นเขาจะอัดวงออเคสตรามาก่อน  แล้วนักร้องจึงร้องให้เข้ากับที่ออเคสตราอัดไว้  เนื่องจากมีนักร้องเพียง 50 ท่าน เขาต้องให้เราร้องและอัดซ้ำเข้าไปหลายๆครั้งเพื่อให้ได้ไลน์ของเสียงครบรวมแล้วเหมือนกับมีนักร้องประมาณ 500 คน   และในเวลาที่แสดงจริงจะเปิดแผ่นพร้อมกับการแสดงสด  เพื่อให้เสียงของนักร้องแน่นและเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่  ผมก็เพิ่งมาทราบว่าทั่วโลกเขาทำกันเช่นนี้แม้แต่เอเชี่ยนเกมส์ที่ปักกิ่งก่อนหน้านั้นก็ใช้วิธีการนี้    เขานัดไปอัดเสียงกันที่หอประชุมเล็ก ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ   การอัดแผ่นทำเอาทั้งนักร้อง ทั้งผู้ฝึกสอนบักโกรกกันเลยทีเดียว  บางเพลงเพิ่งจะได้โน๊ตแยกเสียงมาในวันอัด  ซ้อมกันก่อนอัดไม่กี่รอบ  จากเช้าก็กลายเป็นเที่ยงคืน  ความยากอยู่ที่การร้องต้องแม่นทั้งเสียงและจังหวะไม่นั้นจะกลายเป็นร้องคร่อมจังหวะ  และในที่สุดก็ระดมนักร้องทั้งหมดแทนเนื่องจากเสียงไม่มากพอ    ปัญหาอีกประการที่พบคือ ผู้เรียบเรียงเสียงประสานคนไทยแก้ดนตรีหลายครั้ง   ผมประทับใจกับดนตรีหลายบทที่ ชาดัด โรฮานี วาทยากรและนักไวโอลินระดับโลกได้เรียบเรียงให้สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง   เพลงเมดเลย์ในชุดรีรีข้าวสารของอาจารย์จิรพันธ์ อังศวานนท์   เพลงธีมอย่าง Reach for the star และ Light of Asia  ระยะเวลาเกือบครึ่งปีสำหรับการฝึกซ้อมสร้างความสนิทสนมแก่กันและกันเป็นอย่างมาก เป็นสิ่งที่ผมไม่อาจลืมได้   ผมได้รับเกียรติบัตรเป็นการขอบคุณจาก พณฯ นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีและประธานจัดงานและแผ่นซีดีเพลงที่พวกเราร้องกันหนึ่งแผ่นเพื่อเป็นที่ระลึก

งานเลี้ยงที่เลิกรา

 

ปี 1998 เป็นปีสุดท้ายที่ผมร้องเพลงเป็นจริงเป็นจังกับ BMS  ผมยังจำ Christmas candlelight ซึ่งขับร้องที่ Church of Christ ได้ดี  และเป็นปีสุดท้ายที่ยูเรีย (Yuria) เพื่อนชาวญี่ปุ่นจะกลับประเทศ   เราร้องกันหลายเพลง เช่น Coventry carol,  Candlelight carol, Good king Wenceslas, Mary’s little boy child, Jingle bells,  The Holly and the Ivy, A merry Christmas  คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายที่ผมร่วมแสดงกับ BMS ผมยังจำได้ว่าเราร้อง A merry Christmas เป็นเพลงปิด เนื่องจากเป็นเพลงที่เร็วและร้องไล่กัน  เสียงเทนเนอร์หลุดและล่ม  แต่เราก็ตะครุบได้ในสามสี่ห้องสุดท้ายและจบลงอย่างใจหายใจคว่ำ   ปีรุ่งขึ้นผมยังคงไปร่วมซ้อมเพลงกับ BMS อยู่ แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไม่ได้ร่วมร้องด้วยเนื่องจากผมเดินทางจนบ่อยจนผมขาดซ้อมติดๆกันหลายครั้ง  เพลงชุดสุดท้ายที่ผมร้องแต่ไม่ได้ขึ้นคอนเสิร์ตคือ Dido and Aeneus

 

ปี 1999 แม้ผมจะออกปากว่าผมไม่ค่อยมีเวลาซ้อมเพลง แต่ผมก็ยังเจียดเวลาเพื่อขับร้องเพลงร่วมกับวง Bangkok Festival Choir ในมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 6รอบ ในการแสดงชุด The Glory  ร่วมกับวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตรา   ในโอกาสนี้ (30 ตุลาคม 1999)เขาได้เชิญนักร้องเทนเนอร์ระดับโลกอย่าง Mario Bolognesi (tenor soloist) และ Audrey Vallance (soprano soloist)  มาขับร้อง    พวกเราจึงมีโอกาสได้ร้องเพลงร่วมกับนักร้องระดับโลกหลายเพลงจากอุปรากรหลายเรื่อง  เช่น เพลง  Va Pensiero (Nabucco), Triumphal scene (Aida), Ode to joy (Choral symphony)  เพลงอิตาเลียนสนุกๆอย่าง Finiculi finicula และเพลงพระราชนิพนธ์อีกหลายเพลง   

ico.jpg
Immanuel Church Orchestra

นี่ไม่ใช่บทสุดท้าย แต่เป็นภาคใหม่ของผม
 

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผมแทบไม่ได้ร้องเพลงอีกเนื่องจากอาการภูมิแพ้อากาศผมหนักขึ้นเป็นลำดับจนเนื้อเยื่อโพรงจมูกผมตีบและผมไม่สามารถใช้เสียงเฮดโทนได้    ผมเสียเงินรักษาโพรงจมูกครั้งละหลายพันบาทเพื่อกลับไปร้องเพลงอีกสองสามครั้งในงาน Walk with Hymn/Him  และในงานมหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติเมื่อปี 2004    ภาพงาน Walk with Hymn/Him ที่หอประชุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนยังติดตาผม  หอประชุมที่จุคนได้หนึ่งพันคนเศษๆ แต่มีคนเบียดเสียดกันเพื่อที่จะดูคอนเสิร์ตให้ได้จนทุกพื้นที่นั่งกันเต็มหมด

 

ในช่วงแรกที่ผมเลิกร้องเพลง  เป็นเวลาที่คริสตจักรที่ผมอยู่คิดจะจัดงาน Music night เพื่อส่งเสริมดนตรีคริสตจักร  คริสตจักรมีวงแบนด์ มีคณะนักร้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่  จึงได้เชิญวงออเคสตราของคริสตจักรไมตรีจิตมาร่วมสร้างสีสันให้กับงาน    แผนกดนตรีคริสตจักรได้ติดต่อให้ผมทำการแสดงอังกะลุงขึ้นมาหนึ่งเพลง  ผมมาทราบภายหลังว่าเขาต้องการให้วงอังกะลุงมาคั่นรายการซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับคนเล่นดนตรีเท่าไร  ผมลองเรียบเรียงเสียงประสานเพลงใหม่ใช้เสียงคู่, กลุ่มคอร์ดสามและสี่เสียงประสานกัน  และคัดได้สิบคนที่จะมาเล่นอังกะลุงแต่คนกลุ่มที่ได้มาไม่มีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีเลย   ผมขอบคุณพระเจ้าที่การเขย่าอังกะลุงเริ่มเข้ารูปเข้ารอยหลังจากที่เราซ้อมกันเพียงสองครั้ง   การเล่นอังกะลุงเพียงอย่างเดียวไม่ค่อยมีสีสัน ผมจึงได้เพิ่มกลองยาว 1 ตัวและใช้เสียงฆ้องเพื่อช่วยกำหนดจังหวะ  ผมหานักร้องมาอีก 5-6 คน และใช้เสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีล้อกันไปล้อกันมา   อีกสองสัปดาห์จะถึงวันแสดงแล้ว แต่ผมมีปัญหาหลายอย่างที่แก้ไม่ได้  กำลังแขนของผู้หญิงไม่เท่าผู้ชายทำให้อังกะลุงตัวใหญ่เสียงเบสกลบอังกะลุงตัวเล็กที่ใช้เล่นทำนองหลัก,   แขนข้างซ้ายเขย่าได้ไม่แรงเท่าแขนขวา  และคนเล่นหยุดเขย่าก่อนทำให้เสียงอังกะลุงขาดหายไม่ครบจังหวะ  น้องบางคนร้องไห้เมื่อผมบอกว่าในสี่ครั้งที่ผ่านมาวงเราย่ำอยู่กับที่ซึ่งผมเองก็รู้ว่าทุกคนตั้งใจแต่ผมแนะนำและแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะผมไม่เคยเขย่าอังกะลุง   เมื่อผมเปลี่ยนให้ลองเล่นแต่ทำนองหลัก ผู้เล่นก็ได้ยินเสียงที่ขาดเห็นห้วงๆชัดเจน   น้องหลายคนกลับไปยกขวดน้ำต่างดัมเบลบริหารกำลังแขน   ปัญหาต่างๆแก้ไขไปทีละเปลาะและผมให้ซ้อมในจังหวะที่ช้าลงเท่าตัวเพื่อให้คนเล่นเขย่าจนได้ยินเสียงครบทั้งจังหวะ  ผมขอบคุณพระเจ้าด้วยน้ำตาร่วมกับวงเมื่อการแสดงอังกะลุงในคืนนั้นเรียกเสียงปรบมือที่ยาวนานที่กว่าการแสดงอื่นๆ   ในวันนั้นมีพี่น้องจากคริสตจักรหลายแห่งมาฟังคอนเสิร์ตไม่น้อยกว่า 300 คน  ทุกคนประหลาดใจเมื่อผมบอกว่าเราได้ใช้เวลาซ้อมกันเพียง 10 สัปดห์และผู้เล่นแต่ละคนไม่มีความรู้พื้นฐานทางดนตรี  ครั้งนี้เป็นหนแรกที่ผมใช้วิชาเรียบเรียงเสียงประสานและการอำนวยเพลงที่ผมเรียนกับอาจารย์ฮิลล์เมื่อสิบกว่าปีก่อนออกมาปัดฝุ่นใช้งาน   พวกเราว่างเว้นจากการเล่นอังกะลุงกันมาหลายปีหลังจากนั้น   ผมได้ทำอังกะลุงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในปี 2005 ตามที่คริสตจักรขอเพื่อเป็นดนตรีนมัสการในวันอาทิตย์  ในครั้งนี้ผมให้อังกะลุงเล่นร่วมกับเปียโน, วงแบนด์, ไวโอลินและทรัมเปต  และผมร้องเพลงนำที่ประชุม   ได้ให้ทั้งวงได้เล่นในช่วงเดินถุงถวายทรัพย์และช่วงปิดการนมัสการด้วย  พี่น้องมืออังกะลุงเก่าๆมาช่วยกันหลายคนด้วยความเต็มใจและมีคนใหม่ๆเข้ามาร่วมเสริมจนครบทีม  เราฝึกซ้อมกันอยู่สองเดือนโดยเล่นเพลงนมัสการ  4 เพลง  นับว่ามีความชำนาญกันแล้ว  เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับเพลงบทใหม่ๆที่ผมและเพื่อนๆได้เล่นกันอีกครั้งหนึ่งและเราทุกคนอิ่มใจกับสิ่งที่ได้ร่วมกันทำ  แม้ว่าเราจะเหน็ดเหนื่อยแต่ความกระตือรือร้นที่ผมเห็นและรอยยิ้มของทุกคนไม่เคยจางหาย ตั้งแต่แรกเมื่อสองเดือนก่อนจนสิ้นสุดงานไปแล้วหลายสัปดาห์    หากผมจะไม่เอ่ยชื่อเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขในการรับใช้พระเจ้าด้านดนตรีก็เท่ากับไม่ได้ให้เกียรติกัน  ผมขอเอ่ยชื่อเป็นรายบุคคลจากสุภาพสตรีก่อน: สนิท, ฝน, ริน, ชมพู่, ? (ลืมชื่อจริงๆ ไม่ได้เจอกันหลายปีแล้ว  น้องเขาได้เขย่าทั้งเพลงเพียง 2 ที เท่านั้น), เหมย,  ยอด, ดวง (ไวโอลิน),  ส่วนทีมชายได้แก่ เล็ก (ครั้งแรกเล็กเล่นอังกะลุง ครั้งหลังมาเล่นเปียโนให้), โอม (กลองชุด), คุง (ทรัมเปต  ซ้อมเสียดิบดีแต่วันจริงไม่มา),  นัท (กีตาร์), วี (กีตาร์), นัทพงษ์ (กีตาร์), อั๋น, ธานี, โบ้, ติ้ง, เด็ดดี, ประนม (ปีแรกเล่นกลองยาว, ครั้งหลังเล่นไวโอลิน) และ หนึ่ง (ฆ้อง)   ปีนี้มีคนมาถามผมอีกแล้วว่าจะไม่ทำดนตรีนมัสการอีกสักครั้งหรือ  ผมยิ้มแต่ไม่ได้ตอบรับ  ไม่ได้หยิ่งอะไรหรอกครับ เพียงแต่ผมยังนึกไม่ออกว่าจะทำแนวไหนดี  

 

คริสตจักรที่ผมอยู่ฉลองครบรอบห้าสิบปีเมื่อปี 2003   ทางคริสตจักรได้เตรียมงานและจัดตั้งวงออเคสตราขึ้นตั้งแต่ปี 2002 ผมเลือกเรียนไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีชิ้นที่สอง  เราไปเรียนกันทุกวันเสาร์ และเพียงไม่กี่เดือนพวกเราก็สามารถเล่นวงได้ในเวลานมัสการแบบเพี้ยนๆ  ผมเลือกเล่น 2nd violin ซึ่งเป็นแนวประสาน  ได้ออกงานกันหลายครั้งทั้งในคริสตจักร และนอกคริสตจักรในแบบเพี้ยนเล็กๆ  บางครั้งก็ไปขอเกาะตามร่วมกับวงรุ่นพี่ที่คริสตจักรไมตรีจิตเพื่อหาประสพการณ์  น่าเสียดายที่มีปัญหาบางอย่างในการบริหารจัดการ ทำให้วงออเคสตราต้องปิดตัวลงพร้อมๆกับการเล่นไวโอลินของผม  คงจะมีสักวันหนึ่งที่จะหยิบมันกลับขึ้นมาใหม่

 

เดือนพฤษภาคม 2007 ผมร้อง Handel’s Hallelujah chorus ร่วมกับนักร้องเอเชียอื่นๆอีกร้อยกว่าคนในงาน 7th Asian Baptist Congress 2007 ที่เชียงใหม่   ผมเป็นนักร้องชายจากประเทศไทยคนเดียวท่ามกลางนักร้องชายเกือบสี่สิบคน นอกนั้นมาจากอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และอินเดียเป็นหลัก  ส่วนนักร้องหญิงจากไทยมีอยู่เพียงสี่ห้าคนเท่านั้น   เขาเพิ่งจะระดมนักร้องเพื่อร้องในวันปิดงานเราจึงมีโอกาสซ้อมกันเพียง 2 ครั้งเท่านั้น    น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีชุดประจำชาติสำหรับผู้ชาย  ผมจึงเลือกสวมเสื้อโปโลของงานในขณะที่นักร้องอื่นๆทั้งชายหญิงแต่งชุดประจำชาติหลากแบบและสี   ผมพบว่าไม่สามารถร้องแตะโน๊ต high A สำหรับเทนเนอร์ได้อีกต่อไป  หากผมคิดจะกลับมาร้องเพลงอีกครั้งหนึ่งผมต้องย้ายไปร้องเสียงเบส    ในคณะนักร้องต่างๆมักหาคนร้องเสียงเทนเนอร์ได้ยากกว่าเสียงเบส  สองในสามของชายชาวเอเซียมีโทนเสียงเบส อาจเนื่องมาจากโครงสร้างกระโหลกที่แตกต่างจากคนผิวขาว  ในวงประสานเสียงต่างๆจึงมีเสียงเทนเนอร์ไม่พอจนทำให้บาลานซ์ของเสียงไม่ค่อยดี  แม้ว่าวันนี้ผมไม่อาจใช้เสียงเทนเนอร์ได้เช่นเดิม แต่ผมยังเก็บคำนิยมของอาจารย์โจนส์ ยูแบง อดีตดาวรุ่งผู้แสดงนำละครบอร์ดเวย์หญิงในยุคเดียวกับจูลี แอนดรูว์ ที่เคยมีให้ผมไว้เตือนใจและเป็นกำลังใจอยู่เสมอว่า อย่าละเลยของประทาน (gift)ที่ผมมีอยู่ แต่ให้ใช้มันเพื่อถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า  เพราะผมยังสามารถใช้ทักษะและประสพการณ์ของผมกับการร้องเสียงเบสได้อยู่  และผมยังมีเนื้อเสียงที่เข้มขึ้นตามวัยอีกต่างหาก  หากผมกลับมาร้องเพลงอีกครั้งหนึ่ง ผมคงจะได้มาอัพเดทข่าวคราวของผมในหน้านี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

angkalung.jpg
Angkalung ensemble, 2001

Seemingly all just happened yesterday !