One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames
Life in grad school

จืดๆเป็นเต้าหู้อย่างผม เอามาปรุงใหม่เป็นยำรสแซ่บ...สไตล์แม่ครัวสามย่าน  แซ่บอีหลีเด้อ

grad11.jpg
My first year in Chula

grad17.jpg
Micro night, 1981

ไม่ตายก็คางเหลือง

 

สี่ปีในรั้วเกษตรผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ผมมีเป้าหมายเดียวคือเรียนต่อปริญญาโท ตามรอยเท้าพี่สาวของผม  แม่บอกว่าแม่พอส่งไหว  ผมสมัครไว้ที่เกษตรและก็มาสอบที่จุฬาฯด้วย  ในที่สุดผมก็ตัดสินใจมาเรียนที่จุฬาฯ เพื่อขยายโลกทัศน์ของตัวเอง  ตุ้ยสอบติดที่จุฬาเหมือนกันเลยมาเรียนจุลชีววิทยาอุตสาหกรรมด้วยกันเป็นปริญญาโทรุ่นที่2  ผมได้เพื่อนใหม่อีกสองคน จินนี่ กับแมว ทั้งสองคนจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ  โลกมันกลมดิ๊กเลยเพราะแมวเป็นเพื่อนสนิทกับธีรนุช เพื่อนสมัยอนุบาลของผม   รุ่นพี่ที่เรียนอยู่ก็มีพี่ต๋อยใหญ่ กับพี่ต๋อยเล็ก  พี่ต๋อยเล็กเป็นรุ่นพี่ที่เกษตร  แล้วก็มีพี่ไกรฤกษ์อีกคนหนึ่ง   

 

พฤติกรรมและกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตสามารถอธิบายด้วยกลไกของกระบวนการทางชีวเคมี ทำให้ผมต้องไปเรียนวิชาชีวเคมีขั้นสูงที่ภาคชีวเคมี  ในขณะเดียวกันภาคชีวเคมีก็ส่งนิสิตมาร่วมเรียนเพราะเขานิยมใช้จุลินทรีย์เป็นต้นแบบศึกษากระบวนการทางชีวเคมีในสิ่งมีชีวิต  นิสิตที่เรียนทั้งสองหลักสูตร และบางส่วนจากสัตววิทยาที่มาเรียนชีวเคมีด้วยจึงรู้จักกันหมด    เมื่อเรียนในระดับบัณฑิตวิทยาลัย เรามักมีเพื่อนข้ามมหาวิทยาลัยเยอะ รู้จักกันตามงานประชุมวิชาการซึ่งเป็นเพื่อนๆของเพื่อน  และนิสิตมักเชิญอาจารย์จากต่างมหาวิทยาลัยมาเป็นกรรมวิทยานิพนธ์ด้วยเช่นกัน  อันนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากที่ผมข้ามมาเรียนต่อที่จุฬาฯ

 

การมาเรียนที่จุฬาฯทำให้ผมเครียด เนื่องจากวัฒนธรรมการศึกษาต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อผมเรียนที่เกษตรผมจะได้อะไรที่กว้างๆ เป็นการประยุกต์  ผมเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานแต่ผิวเผินเพื่อนำไปอธิบายและประยุกต์กับวิชาเอกที่เรียน แต่การเรียนที่จุฬาฯ เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างเข้มข้น  เพื่อนที่มาจากชีวเคมีที่เรียนด้วยกันมีทั้งเกียรตินิยมเหรียญทอง และเกียรตินิยมอันดับสองรวมแล้วสามคน   เวลาที่อาจารย์ถามผมมักไม่เข้าใจว่าอาจารย์ต้องการอะไร  สองคาบเรียนเช้าหากเป็นวิชาชีวเคมี สามารถทำให้ผมหมดแรง สมองล้าไปได้ทั้งวันเลยทีเดียว  บางครั้งทำให้ผมท้อใจ ผมไม่อยากเรียน 

 

อาจารย์ไพเราะ ทิพยทัศน์ เป็นผู้หญิงจีนร่างเล็กๆ  อาจารย์เขียนตำราไว้หลายเล่ม ที่รู้จักกันดีคือชีวเคมีเชิงพินิจ  อาจารย์มีสำนวนที่เมื่ออ่านหรือฟังแล้ว ผมต้องแปลเป็นภาษาไทยของผมอีกทีถึงจะเข้าใจ  อาจารย์มักพูดแล้วมีแต่นิสิตชีวเคมีเท่านั้นที่รู้เรื่อง และอาจารย์จะปรายสายตามามองว่าพวกที่เหลือนี่แย่จัง คำถามฉันแค่ง่ายๆ ใช้ความรู้ระดับปริญญาตรีมาตอบก็เพียงพอแล้ว  อาจารย์ย้ำอยู่เสมอว่า ปริญญาโทคือนำเอาความรู้พื้นฐานของปริญญาตรีมาบูรณาการเข้ากันเพื่ออธิบายเหตุผลและหาคำตอบในเชิงลึก  ผมต้องเรียนกับอาจารย์ถึงสามภาคการศึกษา บางภาคมีมากถึงสองวิชา  และอาจารย์เป็นผู้ควบคุมวิชาสัมนาด้วย  ใครๆก็คิดว่าชั่วโมงสัมนาเป็นชั่วโมงง่ายๆ  แค่เตรียมพูด กับนั่งฟังเพื่อนพูด  โหย...มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย  คนพูดสัมนาก็โดนซักยุบซักยิบ  อาจารย์ไม่ได้ต้องการข้อมูลในแนวกว้าง แต่อาจารย์ต้องการคำอธิบายในเชิงลึกเสียจนบางทีผมมองไม่เห็นก้นหลุม สำหรับคนฟังสัมนา อาจารย์จะย้อนมาถามเป็นรายบุคคลเลยว่า ที่คนพูดๆอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร คุณได้อะไรจากสัมนาวันนี้ และสุดท้ายให้หัดตั้งคำถามคนละคำถามเพื่อใช้เป็นโจทย์สำหรับวิจัยต่อยอดเรื่องที่สัมนาในวันนี้   กว่าจะไล่มาถึงผมก็ไม่เหลือโจทย์อะไรให้ผมตั้งได้อีกแล้ว ซวยเลยตู   แต่นับว่าสวรรค์ยังมีตา  วิชาสัมนาในเทอมที่สอง ผมได้อาจารย์สัณห์ มาคุมแทน ทำให้ผมกับอาจารย์รู้จักกัน

grad15.jpg
Among friends in 1983

จิ้งจกเปลี่ยนสี

 

เมื่อปีที่หนึ่งผ่านไป  ผมเอาตัวรอดไปได้ด้วยเกรดสามกว่า  ปริญญาโทถ้าวิชาไหนต่ำกว่าสามต้องเรียนใหม่ ถือว่าสอบตก  พวกเราต้องเริ่มหาหัวข้อวิทยานิพนธ์  อาจารย์เขาจะเล็งนิสิตไว้ตั้งแต่มาสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อแล้ว  อ.สุมาลี พิชญางกูร ส่งพี่ไกรฤกษ์มาทาบทามว่าอาจารย์มีหัวข้อวิจัยเรื่องนี้อยู่ผมสนใจหรือไม่   ผมมาทราบภายหลังว่า ที่อาจารย์สนใจเพราะเห็นว่าผมเข้าร่วมงานประชุมวิชาการต่างๆสม่ำเสมอ มีความกระตือรือล้นกับความรู้ใหม่ๆ    ส่วนอาจารย์จะดูผมถูกหรือผิดก็ช่วยไม่ได้เพราะเลือกผมไปแล้ว    ผมได้ทำงานวิจัยเรื่องการสร้างเม็ดสีเขียวจากฆ้องเขาเขียว เป็นปัญหาพิเศษก่อนเริ่มวิทยานิพนธ์     และผมเริ่มวิทยานิพนธ์ในภาคปลายปีที่สอง ผมคัดเลือกจุลินทรีย์ที่นำมาผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งดิบ    ปีนี้เองพี่สาวผมก็เรียนจบปริญญาโทเคมี แล้วไปเป็นอาจารย์ที่เกษตรฯ

 

ผมใช้เวลาเรียนและทำวิทยานิพนธ์อยู่สามปีครึ่ง  และเมื่อจบแล้ว (1985) ผมก็ยังวนเวียนอยู่ที่คณะอีกปี่ครึ่งเพื่อช่วยสอนและเป็นลูกจ้างวิจัย   อาชีพนิสิตเป็นอาชีพที่สนุกสนาน  ผมมีเพื่อนเยอะ ทั้งในภาควิชา ต่างภาควิชา ต่างมหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากเขามาจีบเพื่อนเราก็ต้องมาสนิทกับเราเป็นธรรมดาเพื่อหาแนวร่วม เมื่อมาเรียนจุฬาฯใหม่ๆ พวกพี่ต๋อย จินนี่ แมว จะชวนกันไปกินข้าวนอกคณะบ่อยมาก  แหล่งที่นิยมไปกันก็มีโรงอาหารของคณะอักษรศาสตร์ สามย่านด้านประตูคณะบัญชี และตลาดสามย่าน บางทีก็ออกไปที่สยามสแควร์ บางครั้งอาจขับรถกันไปกินไก่ย่างกันแถวซอยสุจริต ตรงข้ามกับพระตำหนักสวนจิตรลดา  บางทีก็จะแอบหนีกันไปดูภาพยนตร์แถวสยามรอบเที่ยง  ก็รีบทยอยหลบกันออกมากินข้าวเที่ยงกันสักสิบเอ็ดโมง  สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีสตางค์กัน เราจะซื้อตั๋วกันเพียง 15-20 บาท ซึ่งเป็นแถวหน้าสุดนอนแหงนกันคอตั้งเลย  และถ้าวันนั้นอาจารย์เกิดจะตามตัว วันรุ่งขึ้นเรามักโดนอาจารย์ตำหนิ เพราะเล่นปิดแล็บหายกันหมด  

 

เมื่อหมดวิชาบรรยาย ผมก็ใช้เวลาทั้งหมดทำวิทยานิพนธ์  โดยปกติผมจะไปถึงที่จุฬาฯหลังสิบโมงครึ่ง  และผมจะใช้เวลาทำงานจนสี่ทุ่มถึงจะกลับบ้าน ซึ่งต่างกับเพื่อนๆที่จะมากันตั้งแต่โมงเช้า พอสี่ห้าโมงเย็นก็ทยอยกันกับบ้าน ผมจะมีเวลาสี่ชั่วโมงที่ผมไม่ต้องแย่ง หรือรอใช้เครื่องมือวิเคราะห์กับใคร    ตึกจุลชีววิทยาเป็นส่วนหนึ่งของตึกขาว ซึ่งเป็นตึกโบราณ รูปทรงเหมือนอาคารโบสถ์วิหาร เป็นอาคารสองชั้นที่คดเคี้ยวไปมา  ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัย  ชั้นใต้ดินตึกขาว เคยเป็นที่นักศึกษาเรียนกายวิภาคศาสตร์กับอาจารย์ใหญ่ ผมได้ยินคำร่ำลือต่อๆกันถึงความเฮี้ยนเต็มสองรูหู และหลายๆครั้งผมก็ค้างคืนในห้องปฏิบัติการ   พวกรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า เคยได้ยินเสียงและเห็นเงาขาเดินขึ้นลงบันไดทั้งคืน  มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้ยินเสียงคนชักประตูทางขึ้นชั้นสองเข้าออก  เมื่อผมไปดูก็ไม่มีอะไร แต่ยังไม่ทันที่ผมจะกลับลงมา เสียงประตูก็ดังขึ้นอีกทำเอาสะดุ้งไปเหมือนกัน ผมไปหาไฟฉายมาส่องกวาดไปตามเพดานและแล้วผมก็พบความจริงว่า มันเป็นเสียงหน้าต่างเหนือฝ้าเพดาน ตึกโบราณทำเพดานไว้สูงกว่า 5-6 เมตร เมื่อปรับปรุงใหม่เขาจะตีฝ้าลดเพดานลงเพื่อประหยัดแอร์  หน้าต่างเล็กๆที่อยู่เหนือขึ้นไปไม่ได้ใส่กลอน ดังนั้นเมื่อลมพัดมามันจะไกวและทำให้เกิดเสียงดังในเวลาที่เงียบสงัด     เมื่อตึกใหม่สร้างเสร็จ ทั้งภาควิชาก็ย้ายขึ้นไปอยู่ชั้นสี่ ผมทำงานอยู่ที่ชั้นสี่ระยะหนึ่ง  นิสิตปริญญาโทที่ค้างคืนบนตึกมาเล่าให้ฟังว่า สุดปีกตึกอีกด้านหนึ่งมีเสียงคนเล่นไถเก้าอี้ล้อเลื่อนดังน่ารำคาญมากทั้งคืน และมีอยู่คืนหนึ่งเขามาเอาสารเคมีที่ตู้เก็บหน้าห้องทำงานของผม  เขาเจอผู้หญิงที่ไม่รู้จักแถวหน้าห้องผม  เมื่อถามว่ามาหาใคร ถึงได้เห็นว่ามีผู้หญิงคนนั้นมีแต่ครึ่งบนเท่านั้น  น้องคนนั้นได้แต่รอเวลาเช้าที่ประตูตึกข้างล่างจะเปิดเพื่อกลับบ้านและเขาหายไปเลยไม่มาอีกทั้งสัปดาห์   

Enter supporting content here

grad13.jpg
With my lovliest advisor.

อาจารย์ของผม

 

หากผมจะไม่พูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของผมเลยคงจะเป็นเรื่องประหลาด  อาจารย์สุมาลี พิชญางกูร เป็นสุภาพสตรีชาวอยุธยาที่สวยมาก  ตาของอาจารย์กลมโตเหมือนนาตาลี วู๊ด  ความสวยของอาจารย์ทำให้อาจารย์มีตำแหน่งเป็นดาวจุฬาฯ แถมยังเรียนเก่งจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม  อาจารย์ไปได้ปริญญาเอกที่ MSU ทางด้านราวิทยา  อาจารย์เป็นลูกศิษย์ของลูกศิษย์ Constantine J. Alexopuolos  หากเมนเดลเป็นบิดาแห่งวิชาพันธุศาสตร์  อเล็กโซพัวโลสก็นับว่าเป็นบิดาแห่งราและเห็ดวิทยา   ผมเลยอุปโลกตัวเองเป็นเหลนศิษย์เสียเลย แม้ว่าจะเป็นเหลนที่ไม่มีใครคิดจะนับญาติ  อิอิ อันนี้เป็นโจ๊กของผมเวลาคุยกันในหมู่เพื่อน  เวลาที่ผมได้ราสายพันธ์หน้าตาแปลกๆมาแล้วผมจะต้องจัดจำแนกหรือทำอนุกรมวิธาน  ผมจะจัดหมวดหมู่ถูกๆผิดๆ  แต่อาจารย์ของผมทำอนุกรมวิธานได้แม่นและเร็วมาก  อาจารย์เป็นนักอนุกรมวิธานเชื้อรามือหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว  ผมอยู่กับอาจารย์หลายปี เลยได้ลักจำอะไรมาเยอะ   เวลาที่คุยกับอาจารย์ผมก็ตามไม่ค่อยทัน เพราะอาจารย์พูดเรื่องงหนึ่งแล้วอยู่ดีๆก็ข้ามช๊อตไปซะไกลเลย ความคิดอาจารย์ไหลไปไหนต่อไหนก่อนที่ปากจะพูดจบเสียอีก   น้อยครั้งที่ผมจะเห็นอาจารย์อารมณ์ไม่ดี ปกติอาจารย์จะยิ้มแย้มตลอดเวลา มีอารมณ์ขันเสมอ แต่อาจารย์มักเป็นคนลืมนัดหมาย ผมเกือบจบไม่ทันปิดภาคถ้าผมไม่ไปนั่งเฝ้าอาจารย์ที่บ้านเพื่อให้อ่านและแก้ไขวิทยานิพนธ์ให้ อาจารย์ก็อ่านไป มือผมก็เล่นเปียโนกล่อมไปด้วย  ในหมู่นิสิตด้วยกัน มีคำร่ำลือว่า ลูกศิษย์ในที่ปรึกษาของอาจารย์เกือบทุกคนจะเรียนต่อจบปริญญาเอก  ผมก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นจริงมาถึงผมด้วย  และเมื่อผมลองไล่นิ้วนับดูตั้งแต่รุ่นพี่ลงไปถึงรุ่นน้องมีปริญญาเอกทั้งสิ้น 8 คนจาก 10 คนที่ผมรู้จัก  ชีวิตคนเราพลิกผันได้มากมาย  ไม่มีใครทราบอนาคต  รูปถ่ายวันที่น้องๆรับปริญญากันข้างบน จะมีใครคาดบ้างว่าในรูปนั้นสักวันหนึ่งจะมีปริญญาเอกจากอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่นและไทยรวมกันถึง 7 คน

grad12.jpg
Year 1982: Oy, Pim, Tum, Jinny and Tong

เพื่อนใหม่

 

อย่างที่ผมบอกว่าอยู่จุฬาฯนาน ชีวิตในจุฬาฯต่างกับเกษตรฯลิบลับ  จากเด็กลูกทุ่งกลายเป็นเด็กลูกกรุง  จริงๆแล้วคนจุฬาฯไม่ใช่คนฟุ้งเฟ้อ เพียงแต่เป็นสังคมเมือง  ด้วยความเป็นเมืองเล็กในเมืองใหญ่ ทำให้สังคมดูแคบลง รู้จักกันหมด กลายเป็นเพื่อนๆของเพื่อนๆ  ผมจะรู้จักเพื่อนที่อยู่ชีววิทยาเพราะเรียนด้วยกันสองวิชา  นายตุ้ยเพื่อนที่มาจากเกษตรฯด้วยกันเรียนไปเรียนมาเลยได้แฟนที่เรียนปริญญาโทที่ชีววิทยา เมื่อจบแล้วแต่งงานกันมีลูกชายคนหนึ่ง  แอ๊วแฟนตุ้ยก็เป็นเพื่อนสนิทกับแมวที่เรียนด้วยกัน  แมวเป็นเพื่อนช่างพูด  เป็นเด็กโรงเรียนราชินีปาก(คลอง)ตลาดก่อนจะมาจบวิดยาจุฬาฯ จัดได้ว่าเป็นหญิงงามแบบไทยๆ  ดังนั้นหัวกระไดภาควิชาผมเลยไม่เคยแห้งเลย จะมีเพื่อนๆแวะมาคุยกับแมวไม่ขาดสาย จากเพื่อนแมวเลยกลายเป็นเพื่อนของผมไปด้วย มีทั้งที่เรียนโทวิศวกรรมเคมี สิ่งแวดล้อม และบางคนที่ทำงานแล้ว  ส่วนจินนี่ก็มีเพื่อนเก่าที่แวะเวียนมาเยี่ยม  และเมื่อเราทบทวนความทรงจำกัน  เสริมสิน เพื่อนสมัยมัธยมของผมก็เป็นเพื่อนจินนี่ด้วย แต่เสริมสินจากไปตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 2 ผมจำไม่ได้แล้วว่าเพื่อนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง   ผมรู้จักเพื่อนจินนี่ที่ไปเรียนโทที่มหิดลหลายคน ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องงานวิจัยกันเวลาที่งานของเราติดขัด หน่อยเป็นคนหนึ่งที่ผมใช้บริการเยอะมาก แฟนของหน่อยก็ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของเพื่อนผมอีกด้วย  ผมก็งงนะว่าโลกใบนี้มันทำไมถึงใบเล็กอย่างนี้   ภาควิชาจุลชีววิทยาจะรับนิสิตที่เอกวิชาไบโอเทคมาทำวิทยานิพนธ์ด้วย  ด่อง กับตุ่มจะเป็นคู่กัดที่นำความครื้นเครงมาให้เสมอ  ด่องจะอวบตุ้ยนุ้ย  พูดมาก เพ้อได้ทั้งวัน  เพื่อนของด่องจากเคมีที่แวะมาประจำคือ พล  แน่นอนเขาต้องรู้จักกับพี่ของผมด้วย  สองคนนี้มักแลกหนังเพศศึกษาอยู่บ่อยๆ  ส่วนตุ่ม เป็นเด็กขาประจำเดอะพาเลซ  จะมีเพื่อนแกงค์หนุ่มไม่แท้มาพาไป คืนไหนที่ตุ่มจะไปเที่ยว สังเกตได้ง่ายมากจากเสื้อฟ้าลินินทั้งชุด  ทั้งตุ่มและด่องไปจบปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น  เราก็ยังเจอกันบ้างตามงาน  แมวกับตุ่มทำงานกันที่จุฬาฯ  ส่วนตุ้ยเมื่อจบแล้วก็เข้าวัง

 

เมื่อผมเรียนจบ ผมทำงานวิจัยที่จุฬาฯ เพื่อนๆผมแยกย้ายกันไปหมด ผมคบเพื่อนรุ่นน้องผม 6 ปี ที่เข้ามาเรียนโท กว่าครึ่งผมรู้จักเขาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี  มีพี่เอกแก่สุด  บ้านพี่เอกอยู่ข้างโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย พี่เอกจะเรียบร้อยตลอด ผมเรียบแปล้ เสื้อเชิ๊ตแขนสั้นขาว กางเกงดำ รองเท้าคัตชูดำ มันแผล็บ  ทุกอย่างเรียบร้อย มีแต่ปากอย่างเดียวที่คมกริบ  เอกจบปริญญาเอกที่อังกฤษ อาชีพอาจารย์เหมาะกับเอกที่สุดแล้ว  อีกคนหนึ่งก็หงุ่น  หงุ่นเป็นเด็กสาวที่ผมจำได้แม่น  ตัวเล็กๆผมซอยออกแนวทอมๆ  หงุ่นนิยมสวมกระโปรงไม่มีจีบตัวยาวมากครึ่งค่อนน่อง สวมรองเท้าหุ้มข้อ  หงุ่นไปจบเอกที่ญี่ปุ่น ซึ่งผมว่าก็เหมาะกับความคิขุของเธอดี  พงชัยมาเรียนโทอยู่หนึ่งปีก็ได้ทุนไปเรียนโทควบเอกที่สกอตแลนด์  พงชัยเป็นลูกศิษย์อาจารย์สุมาลีเหมือนกันเลยอยู่แล็บเดียวกับผม  เป็นเด็กเกียรตินิยม พูดเก่งกินเก่ง ความสติเฟื่องของเขาทำให้เราหัวเราะกันได้ทั้งวัน  นอกจากพงชัยแล้วยังมีน้องอย่าง ป้อง หน่อย ทิพ  สามคนนี้ใครอย่าได้เข้าใกล้เลยนะ ดงตำแยแท้ๆ ทั้งสามคนแยกย้ายกันไปเรียนปริญญาเอกต่อ  ก็ยังได้คุยกัน เจอกันอยู่บ้าง ในรุ่นนี้มีอีกคนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือหนึ่ง  หนุ่มจากเชียงใหม่ หนึ่งเป็นอีกหนุ่มขาเที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ และเป็นนักดื่ม แต่หนึ่งก็เอาดีได้จนจบปริญาเอกไปอีกคนนึง  หนึ่งกับเอกนับเป็นคู่กัดกันโดยแท้ คนหนึ่งระเบียบจัด อีกคนไร้ระเบียบ เมื่อต้องมาแชร์ห้องพักนิสิตด้วยกัน จึงมักมีเรื่องมันๆเกิดขึ้นเสมอ 

เด็ก(โค่ง)หิ้วกระเป๋ากลับเข้าเรียน

 

เมื่อเปิดเทอมปี 1989 มีเด็กใหม่คนหนึ่งหิ้วกระเป๋ากลับเข้าห้องเรียน  ผมกลับไปเรียนหนังสือที่ภาควิชาชีวเคมี ในรั้วจุฬาอีกครั้งหนึ่ง  ผมอยากบอกว่า ผมไม่เคยคิดว่าจะมีวันนั้น  ความตื่นเต้นที่จะกลับเข้าเรียนทำให้ผมลืมฝันร้ายเมื่อหลายปีก่อนที่ผมเผชิญในภาควิชานี้จนหมดสิ้น  วิชาแรกที่ผมเข้าชั้นเรียนคือ ชีวเคมีขั้นสูง 1  ผมเรียนรวมกับนักเรียนปริญญาโท วิชาเอกชีวเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ รวมๆแล้วมีนักเรียนประมาณ 15 คน  มีนักเรียนเกียรตินิยมชีวเคมีมาเรียนด้วย  ผมคงต้องเหนื่อยอีกแล้ว  ผมเป็นนักเรียนปริญญาเอกคนเดียว  ความคาดหวังของอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นย่อมมีมากเป็นธรรมดา  เป็นความเครียดที่คนรอบข้างคาดหวัง รวมไปถึงความรู้สึกลึกๆในใจที่บอกว่าแพ้ไม่ได้  เพื่อนร่วมชั้นของผมมี ก้องและเอกที่เรียนได้อย่างน่าเกรงขาม  ฝน เจษ อัญชลี  ส่วนที่มาจากไบโอเทคก็มี ไข่ นิธิ แล้วก็พัชรี  น้องๆเขาเรียนแบบสบายๆเพราะเพิ่งจบปริญญตรีมาหมาดๆ เขาเรียนมากันจนปรุไปหมดแล้ว   เมื่อจบชั่วโมงแรกก็ได้รับการบ้านมาอ่านตำราภาษาอังกฤษร่วมร้อยหน้า พร้อมกับเขียนรายงาน  รายงานฉบับแรกของผมได้รับคำชมว่าเขียนได้ดี ให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง    ในที่สุด วันที่สอบกลางภาคก็มาถึง   ผมไปรับข้อสอบมาจากอาจารย์ตอนสี่โมงเย็น  มีทั้งหมด 17 ข้อ ผมมีเวลาหนึ่งคืนและจะต้องนำไปส่งก่อนเที่ยงวันรุ่งขึ้น เป็นข้อสอบอัตนัย เปิดตำราได้ ใครอยากจะลอกกันหรือปรึกษากันก็ได้  แต่ถ้าตอบมาเหมือนกันตรงตัวอักษร ได้มากี่คะแนนก็หารด้วยจำนวนคนที่ลอกกัน   ผลสอบปรากฏว่าคะแนนของผมเกาะกลุ่มบน  อาจารย์ชมว่า ตอบข้อสอบได้ตรงประเด็น มีแต่เนื้อ ไม่มีน้ำ  ผมอาจจะเสียเปรียบในเรื่องความฉับไว การจดจำ แต่สิ่งที่ผมได้เปรียบคือ ประสพการณ์ในการมองภาพรวม การจำแนกแยกแยะรายละเอียด  นับว่าผมรอดมาได้ด้วยวัยวุฒิแท้ๆทำให้ผมสามารถเรียบเรียงให้อาจารย์เข้าใจได้ด้วยประโยคง่ายๆ

 

ผมกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่งด้วยเงื่อนไขหลายประการ  ผมรับเงินเดือนในฐานะลูกจ้างชั่วคราวของสภากาชาดไทยโดยไม่มีข้อผูกพันใดๆหลังจากที่เรียนจบ แต่ผมต้องเลือกทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น  โดยใช้เงินวิจัยรัชฎาภิเษกสมโภชของคณะแพทยศาสตร์ และมีอาจารย์แพทย์บางท่านร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  เท่ากับผมมีผู้อุปการะรายเดือนและมีเงินวิจัยสนุบสนุนการทำวิทยานิพนธ์  การผูกเงื่อนไขหลายอย่างเข้าด้วยกันทำให้ผมพบกับความซับซ้อนของการดำเนินชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

grad18.jpg
With friends at Pramongkutklao Medical School

นักเรียนเร่ร่อน

 

ผมเรียนคอร์สเวอร์คอยู่ปีครึ่ง  เทอมที่สี่ของผมมีแต่วิชาสัมนาและปัญหาพิเศษ  ในปีครึ่งดังกล่าว นอกจากความรู้ในตำราที่ได้มามากมาย  แต่ก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ติดตัวมาจนทุกวันนี้คือวิธีคิด วิธีเก็บบันทึกในสมอง และการมองให้เกิดภาพจากมุมมองภายนอก  ผมยังจำอาจารย์ที่เคี่ยวเข็ญผมได้ทุกท่าน  อาจารย์สุกัญญาที่พร่ำสอนจนผมเห็นรายละเอียดการทำงานของโมเลกุลชีวิต  อินทิเกรชันเมตาบอลิสมของอาจารย์ทิพาพรทำให้ผมทะลุปรุโปร่งของการเปลี่ยนสารอาหารและแปรสภาพเพื่อนำไปใช้งานร่างกาย อาจารย์จริยาที่ทั้งดุและเข้มงวดพาผมเดินท่องโลกการทำงานของรหัสพันธุกรรมที่ควบคุมชีวิตและพฤติกรรมของเราไว้  อาจารย์ไพเราะที่ช่วยแคะขี้เลื่อยออกจากหัวผมเพื่อเปิดมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผมไปได้อย่างกว้างไกล ที่สอนให้ผมใช้สรรพวิชาร่วมกันทั้งเคมี ฟิสิกซ์ ชีววิทยาเพื่อหาคำตอบของทุกสิ่ง จากอาจารย์ที่ผมไม่ชอบเลยเมื่อครั้งผมเป็นเด็กปริญญาโทกลายเป็นอาจารย์ที่มีอิทธิพลกับแนวคิดของผมมากที่สุดและติดตัวจนกลายเป็นผมในทุกวันนี้  อาจารย์สัณห์หัวหน้าภาคที่เมตตาโอกาสผมเข้ามาเรียนและคอยแก้ปัญหาให้ผมอย่างไม่หยุดหย่อน  อาจารย์ศิริพรที่เปิดมุมมมองของเคมีในพืช ศาสตร์ที่ผู้คนละเลย และยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้ผมด้วยความอดทนอย่างสุดแสน  ผมยังเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์อีกหลายท่าน อาจารย์วิชัย อาจารย์วิเชียรซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อีกท่านหนึ่ง  ลีลาการสอนและลีลาออกข้อสอบของท่านยังจำได้ไม่ลืม

 

เมื่อมาเรียนหนังสือ  การมอบหมายงานให้ไปอ่านตำราต่างประเทศและค้นคว้าไม่ใช่เรื่องยากเย็น  แต่เรื่องยากเย็นของผมอยู่ที่ความไม่แน่นอนของอนาคต  ผมเป็นเด็กที่โครงการอุปการะ  อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ผมเป็นทีม  ทางคณะวิทยาศาสตร์แต่งตั้งอาจารย์ศิริพรเป็นประธานที่ปรึกษา  กรรมการอีกสามสี่ท่านมาจากคณะแพทย์และจากกองวิทยาศาตร์ สภากาชาดไทย  หากอาจารย์ที่ปรึกษาผมปรองดองกันได้ผมก็นอนเรียนตาหลับ  ภายในสองปีผมเปลี่ยนทีมอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ถึงสามครั้ง  และการเปลี่ยนกรรมการวิทยานิพนธ์ย่อมสั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตอย่างน่าใจหายใจคว่ำ  ผมไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทองที่จะเรียนได้อย่างสุขใจ  รายรับแต่ละเดือนหมายถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายในบ้าน  อาจารย์ที่ปรึกษาส่วนหนึ่งคือผู้อุปการะผม หมายความว่าท่านต้องหาเงินค่าสารเคมี หาค่าเครื่องมือมาให้ผมใช้ในงานวิจัย  งานวิจัยในแนวลึกแต่ละชิ้นจะเกิดไม่ได้หากท่านหาเงินทุนมาสนับสนุนผมได้น้อยกว่าสามล้านบาท   การเปลี่ยนกรรมการวิทยานิพนธ์แต่ละครั้งจึงเป็นการสั่นคลอนกำลังใจของผมเป็นอย่างมาก

 

เวลาผ่านไปสองปี  ปัญหาของกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และเงินทุนวิจัยยังอึมครึม ผมใช้เวลาที่ทุกข์หนักที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตเตรียมทดสอบความรู้ระดับปริญญาเอก (comprehensive exam.)  ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าผมจะผ่านเวลายอดแย่อย่างนั้นด้วยคะแนนยอดเยี่ยมหลายวิชา  บางวิชาผมสอบแต่ข้อเขียนโดยที่อาจารย์ประจำวิชานั้นยกเลิกการมาสอบปากเปล่า  บางวิชาอาจารย์ไม่ได้จะมาสอบปากเปล่า อาจารย์มาเพื่อสัมภาษณ์และชวนให้ไปทำงานด้วยเมื่อผมเรียนจบ  แต่วิชาชีวเคมีผมกลับทำได้ด้วยคะแนนสอบผ่าน  ผมโดนอาจารย์สัณห์ดุและให้ทำรายงานเพิ่ม

 

เปิดเทอมใหม่ปีสาม  พี่ผมไปเรียนต่อที่อังกฤษ  ส่วนผมย้ายไปอยู่กับอาจารย์สุวิชา จิตปฏิมา อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ใหม่ถอดด้ามที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า  ผมปิดฉากการเป็นนักเรียนเร่ร่อน  และผมยังเป็นนักเรียนอุปการะของโครงการอยู่เช่นเดิม

panomrung.jpg
My Gang: I, Unchalee, Nong, Apisit

จะเรียนหรือจะเล่น  จะหัวเราะหรือจะร้องไห้

 

ปีแรกที่ผมมาอยู่ที่พระมงกุฏฯ งานผมไม่มีความก้าวหน้าเลยจนผมแทบหมดกำลังใจ  ผมแก้โครงร่างวิทยานิพนธ์อยู่หลายครั้ง แต่ละครั้งที่แก้ดูเหมือนมันจะทำให้ผมห่างไกลความสำเร็จออกไปมากขึ้น  ผมเทียบดูเนื้อหาของมันกับนักเรียนคนอื่นแล้วก็ได้แต่ถอนใจว่าเราต้องทำอะไรยากขนาดนั้นหรือ  เหตุผลก็คือผมเป็นนักเรียนในสายวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  งานค้นคว้าผมต้องออกมาในเชิงลึกที่เป็นแนวคิดใหม่ ทฤษฎีใหม่  หากผมเป็นนักเรียนในสังกัดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ผมสามารถวิจัยในแนวราบเพียงพิสูจน์ว่าสามารถนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในงานนั้นได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะปิดภาคฤดูร้อน ผลการทดลองแรกของผมก็สำเร็จออกมาเป็นพวงใหญ่ให้ผมได้ชื่นชม

 

ดูเหมือนว่าการทดลองเพื่อให้พิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องยาก  แต่การที่จะพิสูจน์ว่าวิธีทดลองแบบที่นำมาใช้เพื่อพิสูจน์สมมติฐานเป็นวิธีที่เหมาะสมเชื่อถือได้เป็นเรื่องใหญ่    ผมเสียเวลากับการออกแบบการทดลองและทดสอบแบบอยู่สองปีเพียงเพื่อคำตอบที่ว่ามันนำมาใช้พิสูจน์สมมติฐานได้จริงเป็นสองปีที่ทรมานและบีบคั้นจิตใจ  เป็นสองปีที่ใหญ่กว่าตัวเนื้อหาวิทยานิพนธ์เสียอีก   ผมใช้เวลาจากเดือนเป็นปีค่อยคลำไปเรื่อยๆ  มันดูเหมือนไม่มีอะไรก้าวหน้าเลย  ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเหนื่อย แต่จะมีวันหนึ่งที่ผมใช้กุญแจถูกดอกไข  วันนั้นจะเป็นวันที่ผมไขเปิดทะลุได้ตลอด  ผมใช้เวลาอย่างยากเย็นที่จะค้นหากุญแจดอกต่อๆไป  เผลอแผล็บเดียวผมผ่านมาเกือบห้าปีแล้ว แต่ผมยังมีเนื้อหาที่ต้องทำอีกหนึ่งในสี่

 

ในช่วงสามปีนี้ ผมมีผู้อุปการะรายใหม่เนื่องจากโครงการที่สภากาชาดไทยปิดตัวลง  ผมไปทำงานในห้องแล็บผสมเทียมเด็กหลอดแก้ว  ผมทำงานได้เงินหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอยู่สองปีก็ลาออกเพราะทนตรากตรำงานกลางคืนไม่ไหว   หลายครั้งที่ผมรู้สึกเหมือนคนจนมุม  ผมเสียเวลามาห้าปีแล้วหากผมเรียนไม่จบจะเป็นอย่างไร  ผมได้ข่าวจากพี่ผมอย่างสม่ำเสมอกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของเขาในต่างแดน ผมเคยร้องไห้อย่างคนที่หมดหนทาง และนั่นเป็นจุดต่ำสุดของชีวิตที่ผมเคยเผชิญ  แม้ว่าในภายหลังผมจะเจออะไรที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นอีกหลายเท่าตัว แต่ผมก็เลิกกลัว เลิกร้องไห้และไม่หมดกำลังใจอีกเพราะผมผ่านจุดต่ำสุดของชีวิตมาแล้ว

 

เมื่อผมขึ้นปีหก  ผมเลิกทำงาน ผมเหลือแล็บอีกเล็กๆน้อยที่ต้องเก็บและรวบรวมงานทั้งหมดเขียนเป็นวิทยานิพนธ์   แม้ว่าผมจะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย แต่มีความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ผมไม่เคยทิ้งคือการร้องเพลง  ยิ่งผมเครียดกับงาน ผมยิ่งต้องการการปลดปล่อย   และด้วยความบังเอิญเสียเหลือเกินที่ห้องแล็บผสมเทียมที่ผมทำงานอยู่อยู่หน้าบ้านท่านผู้หญิงพวงร้อย สนิทวงศ์  ผมจึงมีเวลาแวะเวียนไปซ้อมเพลงที่นั่นอยู่เป็นประจำ จากการร้องเพลงหนึ่งวง ผมก็ขยายออกไปเป็นสองสามวงให้ผมมีงานแสดงไม่ขาดสาย  วิทยานิพนธ์ปีสุดท้ายของผมแทบไม่ขยับไปไหนและหลายคนคิดว่าผมเลิกล้มการเรียนไปแล้ว เพราะมีหน้าผมออกทีวีอยู่เสมอ

 

ภาคเรียนที่สิบสอง ของนิสิตปีหก ปี 1995  ผมไม่มีเวลาเล่นอีกต่อไปแล้ว  หากผมไม่ส่งและสอบวิทยานิพนธ์ภายใน 30 เมษายนในปีนั้น  ผมทำได้เพียงลืมทุกเรื่องราว  ลืมอดีต ลืมอนาคตแต่ให้เวลา ความคิด จิตใจกับปัจจุบันทั้งหมดที่มี  คงไม่มีอะไรยากไปกว่าการต่อสู้ดิ้นรนกับตัวเองอย่างสุดกำลังอีกแล้ว  และผมคว้ามันไว้ได้ในนาทีสุดท้าย

 

สี่ปีที่พระมงกุฏ  ผมได้เพื่อนมาสามคน  บางคนอาจสงสัยว่าทำไมได้มาน้อยจัง  ความจริงผมยังมีเพื่อนในที่ทำงาน เพื่อนในวงร้องเพลง  แต่เพื่อนสามคนที่ว่านี่เป็นเพื่อนที่คบกันในยามยากแท้ของชีวิต  จึงเป็นเพื่อนที่ได้หัวเราะกันดังยาวนานมาจนทุกวันนี้  อัญชลี อภิสิทธิ์ และยุภารักษ์  ส่วนน้องอื่นๆที่เรียนมาด้วยกัน ส่วนใหญ่พากันไปจบปริญญาเอกจากที่ต่างๆ  หลายคนเป็นอาจารย์ หลายคนเป็นนักวิจัย  บางคนได้เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ยอดเยี่ยม คงมีแต่ผมคนเดียวที่ออกมาทำงานในภาคเอกชน

dphil.jpg
Graduation 1995 with Apisit