One day when I was young
Home
This is my stories
My early years
At teens
Undergrad at Kaset
Life in grad school
My career
My tips, your tips
The earth I
The earth II
Challen world
Show & shows
Beneath my wings
Hall of Frames
Undergrad at Kaset

ก้าวผ่านวัยที่เรียนรู้ วัยที่สับสน  ที่นี่คือโลกใหม่ ก้าวใหม่ แนวความคิดใหม่...

kaset1.jpg
A freshy at Kaset

kaset2.jpg
With my new friends

ผมเป็นนิสิตปีหนึ่ง

 

เปิดเทอมใหม่ปี 1977 ผมเข้าเป็นนิสิตชั้นปีหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ แบบอินโนเซนต์เต็มที่  สี่อันดับแรกผมเลือกแพทย์ อันดับที่ห้าคือวิทยาศาสตร์และอันดับที่หกคือเภสัชฯ  นับเป็นการเลือกอันดับที่ไม่มีใครเขาทำกัน  ผมเพิ่งมาเริ่มอ่านหนังสือสามสัปดาห์ก่อนเอนทรานซ์  เมื่อผมทราบผลเอนทรานซ์สิ่งแรกที่ผมทำก่อนคือ ไปหัดขี่จักรยานพร้อมกับใจที่ตุ๊มๆต่อมๆกับการเป็นนิสิตเกษตรที่ร่ำลือกันในระบบโซตัสที่เข้มข้น SOTUS = seniority, order, tradition, unity and spirit   นิสิตปีหนึ่งที่เข้าเรียนมีสามรหัสคือ ก6 7 และก8 สำหรับนักเรียน วิทยาศาสตร์ นักเรียนเตรียมแพทย์พระมงกุฎ และนักเรียนอักษรศาสตร์ ตามลำดับ  ผมเข้าเป็นนิสุตรุ่น KU37 และ SA12 (Science and Art)  ภายหลังจากที่ผมจบไปแล้วหลายปีจึงได้มีการแยกออกเป็นสองคณะ  การเป็นนิสิตปีหนึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่  ความไฮเปอร์ผนวกกับความเซ่อซ่าของผมทำให้ผมต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก

ผมต้องตื่นและออกจากบ้านแต่เช้า  ในระยะแรกผมรู้จักเส้นทางไปเกษตรเพียง 2 เส้นทางหากผมนั่งรถสาย 4 ผมจะไปต่อรถสาย 34 ที่หัวลำโพงเพื่อไปลงรถที่สามแยกเกษตร  หากผมนั่งรถสาย 9 ผมจะไปลงสนามหลวงเพื่อต่อรถสาย 39 หรือ 69 และลงรถที่สามแยกเกษตร  ในเวลานั้นถนนพหลโยธินเป็นถนนที่มีเพียง 2 ช่องจราจรสวนกัน  สองข้างทางเป็นคูน้ำและมีต้นจามจุรีร่มครึ้มสองข้างทาง  หมู่บ้านเสนานิเวศน์เป็นหมู่บ้านที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน  ผมเรียนอยู่ได้เทอมเดียวก็มีการขยายถนนพหลโยธินเป็นหกช่องจราจร  ตัดต้นไม้ ถมคูน้ำข้างทางซึ่งทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมากและเละเป็นตังเมในฤดูฝน

 

ส่วนในมหาวิทยาลัยก็เละไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยได้เงินกู้ธนาคารโลกมาสร้างตึกอาคารเรียนทั้งที่เกษตรกลางและที่วิทยาเขตกำแพงแสน   พื้นที่ของเกษตรเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับมหาวิทยาลัย  ในที่สุดก็เป็นข้อยุติว่าทางด้านตะวันออกของถนนอินทรีย์จันทรสถิตย์ไปจรดถนนพหลโยธินจะเป็นที่ของกรมประมง กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร คณะวนศาสตร์ และคณะสัตวแพทย์   ส่วนอีกฟากหนึ่งไปจรดถนนวิภาวดีรังสิตจะเป็นส่วนของมหาวิทยาลัยทั้งหมด  ในปีแรกผมมีวิชาที่เรียนทั้งฝั่งกระทรวงเกษตรและฝั่งมหาวิทยาลัย  ที่เรียนทางด้านกระทรวงจะเป็นตึกโบราณสองถึงสามชั้น  ส่วนทางฝั่งมหาวิทยาลัยเป็นตึกสร้างใหม่ทั้งหมด จนเมื่อผมขึ้นชั้นปีที่สองจึงย้ายมาเรียนฝั่งมหาวิทยาลัยทั้งหมด  เนื่องจากเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยกำลังพัฒนาถนนทุกสายและทุกพื้นที่เต็มไปด้วยทราย โคลน พงหญ้า พงอ้อ  ทุกที่เต็มไปด้วยจักรยาน  จักรยานเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเพราะแต่ละตึกอยู่ห่างกันเป็นกิโล แถมถนนก็กำลังก่อสร้าง  ทุกคนต่างเร่งทำเวลาเพื่อให้ทันไปเรียนอีกตึกหนึ่ง  ดังนั้นเวลาระหว่างเปลี่ยนคาบเรียนจึงเป็นเวลาที่ชุลมุนที่สุด และยิ่งชุลมุนหนักสำหรับคนที่เพิ่งขี่จักรยานเป็นอย่างผม  หลายครั้งที่ผมขี่หลุดออกไปนอกถนนตรงเข้าหาต้นปาล์มข้างทาง

undergrad13.jpg
We are sophomore!!

เรียนสนุก
 
จำได้ว่าสมัยก่อนการลงทะเบียนเป็นเรื่องโกลาหลสุดๆ เพราะแต่ละตึกแต่ละคณะห่างไกลกันสุดกู่ตั้งแต่ฝั่งพหลโยธินโด่งไปถึงฝั่งวิภาวดีฯ  เวลาลงทะเบียนทีใช้เวลาหลายวัน  รับเอกสาร พบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อรับตารางสอน ไปเอาบัตรคอมพิวเตอร์เพื่อจองหมู่  ผมจะลงภาษาอังกฤษEN111 ผมก็ต้องไปเอาการ์ดคอมพิวเอตร์ที่เขาเจาะรูไว้ที่ภาควิชาภาษาอังกฤษเพื่อจองหมู่ตามตารางสอน  เนื่องจากนิสิตทุกคนต้องผ่านวิชานี้ เลยต้องรอแย่งใบคอมฯกันเพื่อให้ได้หมู่ที่ต้องการให้ได้  ถ้าไม่ได้หมู่ที่ต้องการก็ต้องมาจัดตารางสอนใหม่ ซึ่งบางวิชาเปิดปีละหนเท่านั้น  กว่าจะไปตระเวณแย่งหมู่กันได้ครบทุกวิชาก็หมดไปสามสี่วัน เมื่อได้แล้วถึงกลับมาหาอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งหายากยิ่งกว่างมเข็ม  บางทีไปสองวันก็ยังไม่พบอาจารย์ ก็ต้องขออาจารย์ท่านอื่นเซ็นต์ชื่อแทน  และแล้วก็ต้องเสียเวลาอีกหนึ่งวันไปชำระค่าหน่วยกิต   ด้วยเหตุที่ต้องแย่งหมู่กันนี่เอง ปีหนึ่งผมผ่านไปด้วย 37 หน่วยกิต  ขาดไปหนึ่งหน่วยคือพลศึกษาที่แย่งหมู่มาไม่ได้  ผมไปยื่นขอเข้าสาขาเคมีเป็นวิชาเอก ปรากฏว่าสาขาไม่รับเพระลงหน่วยไม่ครบ  ผมเลยไปหาหัวหน้าภาควิชา ศ.ดร.กฤษณา ชุติมา  ท่านบอกว่าให้ไปลงที่ขาดไปหนึ่งหน่วยกิตมาให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยยื่นเรื่องใหม่  วันนั้นผมหูอื้อ อารมณ์ไม่ดีเลย วิชาที่ผมขาดไปหนึ่งหน่วยกิตคือพลศึกษาซึ่งไม่เกี่ยวกับการเลือกอนาคตของตัวเองเลย  GPA เมื่อจบปีหนึ่งของผมคือ 3.24  เป็นลำดับต้นๆของคณะเลย  ผมลั่นวาจาไว้ว่าผมจะไม่ขอสมัครไปเรียนที่เคมีอีกเลย 
 
เมื่อผ่านภาคเรียนแรกปีที่สอง ผมสมัครเข้าสาขาชีววิทยาเพื่อจะเข้าสาขาวิชาเฉพาะจุลชีววิทยา  ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้สักเท่าไรว่าเขาเรียนอะไรกัน จบแล้วจะไปทำอะไร ผมวาดอนาคตตัวเองไว้ว่าจบแล้วจะเรียนต่อปริญญาโทเลย แล้วจะไปสมัครเป็นอาจารย์เหมือนพี่ของผม  ผมทราบแต่ว่าสาขานี้มีความต้องการทางตลาดสูงมาก มหาวิทยาลัยให้ทุนเรียนปริญญาโทเพื่อออกไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆปีละหลายสิบทุน  ทุนพัฒนาอาจารย์นี้ส่งไปมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ   ในที่สุดผมก็เข้าเป็นนิสิตในสาขาวิชาเอกจุลชีววิทยา 
 
หลักสูตรการเรียนในสมัยนั้นเอื้ออำนวยกับการพัฒนาตนเองเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าผมจะปฏิเสธเคมี แต่ผมยังต้องเรียนเคมีเป็นพื้นฐาน 18 หน่วยกิต ฟิสิคซ์ 9 หน่วยกิต แคลคูลัสและเรขาคณิตวิเคราะห์ 9 หน่วยกิต สถิติ 6 หน่วยกิต   นอกเหนือไปจากวิชาเฉพาะทางชีววิทยา อย่างสัตววิทยา พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ อีกหลายๆ  มีบางวิชาที่สาขาจุลชีววิทยาไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นการใช้จุลินทรีย์ไปควบคุมหนอนกระทู้ ทำให้ผมต้องไปลงวิชากีฏวิทยา ที่คณะเกษตรฯ  หรืออย่างวิชาโรคพืช  ซึ่งมีหลายสาเหตุจากไส้เดือนฝอย จากสิ่งแวดล้อม จากสารเคมี และจากจุลินทรีย์  ผมก็ต้องไปนั่งเรียนวิชาโรคพืช  กลายเป็นว่าผมต้องเรียนอะไรที่มันมากมายหลากหลายเกินกว่าที่คาดไว้  และฐานความรู้ในแนวกว้างเช่นนี้เป็นประโยชน์เมื่อผมศึกษาต่อและทำงาน   หลักสูตรของนักเรียนในปัจจุบันมุ่งเจาะเฉพาะทาง มีการตัดรายวิชาออกไป  มีการสอนที่เฉพาะเจาะจงแล้วก็ตั้งชื่อวิชาว่าหัวข้อพิเศษ special topics ซึ่งแล้วแต่ว่าอาจารย์จะเอาอะไรมาสอน  เช่นอาจารย์จะสอนเรื่องการใช้จุลินทรีย์มาควบคุมการเพิ่มจำนวนหนอนกระทู้ นิสิตปัจจุบันนี้ก็ได้เรียนแค่ไวรัสไปทำอะไรให้หนอนกระทู้ตาย  แต่สิ่งที่นิสิตขาดไปคือ อะไรเป็นปัจจัยที่กำหนดให้หนอนกระทู้ระบาด สิ่งแวดล้อมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องที่ทำให้หนอนกระทู้ดื้อยา ทนทานต่อไวรัส เป็นต้น ความไม่กว้างของหลักสูตรในปัจจุบันทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดทางความคิดได้เลย นับเป็นความล้มเหลวทางการศึกษาอย่างสิ้นเชิง   นิสิตที่เลือกเรียนสายชีวภาพในปัจจุบันไม่ต้องเรียนเคมี ฟิสิคซ์ แคลคูลัสเป็นบ้าเป็นหลังอย่างรุ่นผม  แต่ผมกลับพบว่าผมใช้วิชาเหล่านั้นมาคิดต่อยอด มาอธิบายงานวิจัยและงานที่ผมทำอยู่  และเมื่อผมถามลูกน้องรุ่นใหม่ๆที่จบมา ถ้าไม่มีคำตอบที่มาจากตำราตรงๆแล้ว เขากลับมีแต่คำตอบที่คิดว่าอย่างงั้น คิดว่าอย่างนี้  ไม่มีคำอธิบายอะไรที่เป็นหลักการพื้นฐานเลย
 
สี่ปีที่ผมเรียนอยู่ ผมได้เก็บเกี่ยวอะไรไว้มากมาย  มีทั้งที่ดีและที่แย่ๆ  การเรียนของผมเริ่มแย่ลงในขณะที่เพื่อนๆเมื่อแยกสาขาแล้วจะดีขึ้น  ที่ผมแย่ลงเพราะผมไม่ค่อยเข้าชั้นเรียน  หากเป็นวิชาบรรยายและไม่มีการเช็คชื่อ ผมจะต้องยืมสมุดจดของเพื่อนตลอด  ก็อยู่ในกลุ่มซี้ของผมเวียนกัน  ถ้าอยากได้ละเอียด จดได้ค่อนข้างดีก็ของวรพงศ์ ถ้าจดได้ทุกคำพูดแต่อ่านแทบไม่ออกก็ของนายตุ้ย วิศิษฐพร  ถ้าเอาแบบมีแต่เนื้อๆ ลายมือเท่าหม้อแกงก็ชาลี  ถ้าเอาเป็นระเบียบ สวยงามอ่านง่ายก็มานิตย์  ส่วนของวุ๋ย พรชัยต้องรอหน่อย เขาจะมีเล่มเล็กเชอร์หนึ่งเล่มแล้วก็เล่มที่ลอกใหม่หนึ่งเล่ม  ผมต้องรอเขาลอกใหม่ก่อนถึงจะยืมได้  ผมจะเข้าเรียนเฉพาะที่เป็นวิชาปฏิบัติการ ต้องทำงานกลุ่มและเขียนรายงานส่ง    ถ้างั้นๆวันๆผมหายไปหนครับ  ผมก็ทำกิจกรรมของโบสถ์ มีวงดนตรีที่ผมเล่นคีย์บอร์ด เป็นกรรมการของชมรมนิสิตคริสเตียน จัดค่าย เตรียมงานประชุมนอกสถานที่ จัดคอนเสริต ขายบัตร  ผมทำงานวิชาการให้คณะด้วย เราจะช่วยกันเอาข้อสอบมาเฉลย เขียนลงกระดาษไขแล้วก็โรเนียวแจก  พอช่วงเกษตรแฟร์ผมกับเพื่อนๆก็ทำไวน์ เขี่ยเชื้อยีสต์ไว้ขายให้คนเอาไปหมักไวน์เอง  มีอยู่ปีหนึ่งเรารับลูกชิ้นมาทอดขาย ปีนั้นขายไม่ค่อยดีมีลูกชิ้นเหลือเยอะ พองานวันสุดท้ายเก็บของเสร็จ วันรุ่งขึ้นเราก็ตั้งวงกินลูกชิ้นทอดกันแกล้มกับไวน์ที่ขายไม่หมด  ปรากฏว่าเมากันกว่าจะสร่างเมาแยกย้ายกันกลับบ้านได้ดึกโขอยู่
 
งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาเป็นงานต่อเนื่อง บางทีเราต้องอยู่เฝ้าถังหมักเชื้อติดต่อกันหลายวันหลายคืน ก็ผลัดกันมานอนเฝ้าแล้วก็ถือโอกาสช่วยกันทำการบ้านบ้าง ทำรายงานวิชาอื่นๆ บางคืนก็ออกไปจับแมลงเพื่อส่งในวิชากีฏวิทยา  อาจารย์กำหนดให้ส่งแมลงสต๊าฟ 50 วงศ์  จับมากี่ทีก็เป็นวงศ์เดียวกัน  บางคืนจะควบจักรยานกันออกไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ  แมลงจะมาเล่นไฟให้เราจับกัน  มีอยู่ครั้งนายตุ้ยกวาดเข้าไปในพงอ้อ ได้งูมาตัวนึง  เราทิ้งสวิงไว้ตรงนั้นเลยแล้วกลับมาเอาใหม่ในตอนเช้า  พวกเราจะกินนอนกันในห้องแล็บ จะมีห้องพักนิสิตที่ข้างบนด้วย มีไว้วางกระเป๋า  ส่วนที่ห้องแล็บแต่ละห้องจะมีพี่ปริญญาโทคุมเป็นห้องๆไป  บางทีเวลามีงานอย่างรับน้องผมก็จะไปค้างที่มหาลัย  นอนที่แล็บบ้าง  บางทีก็ไปนอนห้องวรพงศ์ที่ตึก 14 ถ้าเป็นห้องตึกพัก หนึ่งห้องแบ่งนอน 3-4 เตียง ห้องน้ำรวมอยู่ด้านนอก  ในฤดูกิจกรรมจะมีคนมานอนสิงกันห้องละหลายคน  โอกาสที่จะรู้จักเพื่อนต่างคณะก็เวลาที่เราจะมาสิงที่หอนี่แหละ  อีกโอกาสหนึ่งที่จะได้รู้จักเพื่อนก็คือเวลาเรียนร.ด. คือรู้จักกันเลยตั้งแต่ปีหนึ่ง แล้วก็มีโอกาสเจอกันก็ตอนเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆที่บังคับเรียนด้วยกัน  ผมเคยไปสิงที่ตึก 14 ที่ตึก 5 เป็นห้องพี่กวาง พี่ที่ชมรมนิสิตคริสเตียน แล้วก็ที่หอ 13 เป็นห้องของพี่ที่เป็นญาติห่างๆที่ซื้อจักรยานให้ผม  หอจะเป็นอาคารไม้  อากาศดีครับ เป็นอาคารสองชั้นเย็นสบายกว่าที่ตึก แต่ห้องน้ำเป็นห้องน้ำใหญ่อาบน้ำรวมกันหมด  เขาแก้ผ้าอาบกันรอบบ่อซีเมนต์ใหญ่ๆ  ผมขี้อายต้องแอบลงไปอาบดึกหน่อย   เด็กผู้ชายเวลาอยู่หอก็ต้องมีเรื่องเล่ากันเยอะแยะเรื่องจีบหญิง อกหัก และเรื่องทะลึ่งๆ  จะมีหนังสร้างเสริมประสพการณ์ชีวิตมาให้ชมประปราย วันไหนเวียนมาถึงหอไหนก็สังเกตได้ว่าหอนั้นเงียบเหงา เพราะคนไปรวมกันอยู่ที่ห้องเดียว สมัยนั้นยังเป็นฟิล์มขนาดแปดมิลล์ ก็เวียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบทุกตึกทุกหอแหละคับ  ส่วนสถานที่พักผ่อนคลายเครียดที่รุ่นพี่พารุ่นน้องไปอยู่แถวแคราย  เดี๋ยวนี้กลายเป็นสี่แยกไปแล้วตั้งแต่มีการสร้างสะพานพระนั่งเกล้าฯ
 

undergrad11.jpg
Junior in laboratory

ลุกนั่งสบาย
 
การเดินทางในมหาวิทยาลัยจะใช้จักรยานกัน มีเพื่อนไม่กี่คนที่ขับรถมาเรียน  เวลากลับบ้านเราจะจอดจักรยานทิ้งไว้ที่หน้าประตู   ประตูเกษตรกลางที่พหลโยธิน  เราเรียกหน้าประตูนี้กันว่า หน้าตะลัย  ใครถามว่าไปไหน ถ้าออกมาที่สามแยกเกษตรเราจะบอกว่าไปหน้าตะลัย   แล้วก็มีประตูสองด้านถนนงามวงศ์วานเป็นอีกที่หนึ่งที่จอดกันมาก ประตูสองเป็นประตูสำหรับคนที่จะกลับบ้านแถวพงษ์เพชร คลองประปา หรือไปสถานีรถไฟบางเขนทางถนนวิภาวดี  วันไหนผมกลับบ้านทางไหน วันรุ่งขึ้นผมก็ต้องมาลงรถแถวประตูที่จอดรถทิ้งไว้  ผมมีร้อยแปดหนทางกลับบ้านแล้วแต่ว่าวันไหนเรียนกี่โมง ถ้าเข้าเรียนเช้าผมก็ต้องมาทางรถไฟ รถไฟค่อนข้างตรงเวลากับเลี่ยงรถติด  ตอนเช้าจะเห็นนิสิตเดินเป็นขบวนเลาะข้ามถนนวิภาวดีเลียบรั้วของมหาลัยมาเข้าประตูสอง  ถ้ามีประตูสองก็ต้องมีประตูหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างสามแยกเกษตรกับประตูสอง  ตอนกลับบ้านบางวันก็กลับเอง บางวันผมจะยืนซ้อนเสือหมอบของชาลีเกาะหลังเขามาลงที่คลองประปาเพื่อต่อรถกลับบ้าน   จักรยานมหาศาลหลายพันคันขนาดนั้น จะมีจักรยานที่หายเป็นธรรมดา ต่อให้ล็อคดียังไงก็หายได้  เวลาหน้าฝน ก้นก็จะเปียกกันเป็นแถว เพราะน้ำฝนซึมเข้าไปในตะเข็บหนังหุ้มเบาะขังอยู่ในฟองน้ำ  จะเห็นบางคันเอาถุงพลาสติกมาหุ้มไว้อีกทีนึง  บางทีก็จะมีจักรยานจอดผิดที่ผิดทาง จักรยานประเภทนี้มักโดนยกไปโยนทิ้งไว้ข้างพงหญ้าไกลๆบ้าง บางทีก็โดนปล่อยลมยาง  หากจักรยานเสียก็จะมีที่ซ่อมอยู่สี่แห่ง ที่จอดจักรยานหน้าตะลัยกับประตูสอง ที่ข้างโรงอาหารสมก. และที่หกเหลี่ยม  เป็นร้านที่เราจะเติมลมจักรยานได้ฟรี
 
เมื่อตอนเป็นนิสิตสองปีแรก เรามักไปทานข้าวกันที่บาร์ บางทีก็ไปหกเหลี่ยม ไม่ก็ที่สมก.  บาร์เป็นโรงอาหารอยู่ที่ข้างประตูสอง  เด็กหอจะมาทานข้าวที่นี่กัน เปิดกันจนดึก วันไหนเรามากินข้าวที่นี่ เราจะหุ้นกันสั่งกับข้าวมาทาน อาหารยอดนิยมคือไข่ระเบิด  (ทอดไข่ดาวให้ไข่แดงไม่สุก แล้วโปะหน้าด้วยกระเพราหมูสับและใบกระเพราทอดกรอบ)   อีกฝั่งของประตูสองเป็นร้านอาหารนนทรี จะมีอาจารย์และนิสิตไฮโซ ไปทานข้าวกัน  ฝั่งตรงข้ามกับบาร์ใหม่มีร้านสหกรณ์ของมหาลัยอยู่  จากประตูสองมุ่งหน้าไปประตูหนึ่งมีหกเหลี่ยมเป็นโรงอาหารรวม อยู่ข้างคณะเศรษฐศาสตร์  ที่เรียกว่าหกเหลี่ยม เพราะหลังคาเป็นหกเหลี่ยม ร้านอาหารก็กระจายกันรอบทิศ  ข้างๆหกเหลี่ยมเดินเข้าไปเป็นอาคารเทพศาสตร์สถิตย์ เหมือนโรงยิม และเป็นที่ประชุมของนิสิตเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ  หลังอาคารจะเป็นร้านอาหารคาเฟทีเรียของภาควิชาคหกรรมศาสตร์   จากหกเหลี่ยมเดินออกไปทางหน้าตะลัยจะเจอร้านอาหารสมก. (สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อยู่เยื้องกับประตูหนึ่ง โรงอาหารนี้มีทั้งนิสิตและข้าราชการกระทรวงเกษตรมาทานข้าวกัน  ร้านที่ขึ้นชื่อเลยคือร้านข้าวขาหมู  อร่อยมากๆ และร้านหนับ  ร้านหนับจะขายต้มเครื่องในครับ  ผมกลับไปมหาลัยก็ยังเจอร้านนี้อยู่แต่เป็นรุ่นลูกรับงานต่อเป็นรุ่นที่สอง  พอผมขึ้นปีสาม สระว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยก็สร้างเสร็จ ข้างสระว่ายน้ำเขาทำโรงอาหาร แล้วรื้อโรงอาหารบาร์ใหม่ข้างประตูสองลง นิสิตเลยเรียกโรงอาหารใหม่นี้ว่าบาร์ใหม่  โรงอาหารใหม่อยู่ท่ามกลางตึกและหอพอดี
 
สระจุฬาภรณ์เป็นสระว่ายน้ำที่ทันสมัยมาก แยกเป็นสองสระ สระหนึ่งเป็นสระมาตรฐานลึกสองเมตรตลอดความยาว อีกสระเป็นสระกระโดด มีสปริงบอร์ดและมีหอกระโดดด้วย ลึกสี่เมตร ตอนเย็นจะมีเด็กสาธิตมาหัดว่ายน้ำกันอย่างจอแจ พอหลังหกโมงเย็นก็เป็นเวลาที่นักกีฬาว่ายน้ำ และนักกีฬาโปโลน้ำจะมาซ้อมกัน (เลยต้องทำสระลึกสองเมตร)  ตอนเย็นหากผมอยากเล่นน้ำต้องหนีไปเล่นสระโดด  น้ำเป็นสีเขียวเข้มเลย  แต่ผมว่ายน้ำแข็งเลยไม่ปอด  มาตอนหลังกิจการรับสอนว่ายน้ำรุ่งเรืองจนมหาลัยต้องสร้างสระเด็กเพิ่มขึ้นอีกสระหนึ่งต่ออกไปด้านข้าง  เพื่อนๆขาว่ายน้ำมีชาลี มานิตย์ และผม  ส่วนผู้หญิงมี ไก่ ปาน กิตติมา และตู่เป็นหลัก  บางทีก็มีเป็ด กับอ๋ามาแจมด้วย  กางเกงว่ายน้ำของผมเป็นลายเสือ  เพื่อนยังแซวกันทุกวันนี้เรื่องแมลงปอลายเสือ  เพราะผมผอมมากเหมือนแมลงปอครับ   เวลาว่ายน้ำเสร็จ เรามักแวะไปหาตุ้ยที่ตึก 6 ใกล้ๆสระ ไม่ได้คิดถึงเพื่อนมากมายอะไรดอก เจอกันอยู่ทุกวัน แต่เป็นเพราะห้องนายตุ้ยจะซุกขนมไว้เยอะมาก
 
สมัยที่ผมเป็นนิสิต เป็นยุคที่ภาพยนตร์กำลังภายในครองเมือง หนังของชอว์บราเดอร์ ฮ่องกงออกมาไม่เว้นแต่ละเดือน  เวลาปิดเทอมผมจะไปเช่าหนังสือกำลังภายในของโกวเล้งบ้าง ของอึ้งย้งบ้างมาอ่าน เรื่องละ 5-6 เล่ม  เรื่องยาวๆอย่างมังกรหยกก็อาจขึ้นไปถึง 10-14 เล่ม  อ่านกันหูตาแฉะเลยครับ อ่านกันจนฟ้าสางยิ่งกว่าท่องหนังสือสอบเสียอีก  เพื่อนๆที่บ้าหนังกำลังภายในก็มีตุ้ย และอีกคนนึงชื่อโอ เป็นเพื่อนคริสเตียนที่คณะสังคมศาสตร์  สมัยนั้นจะไปดูหนังกำลังภายในกันสองสามที่ โรงหนังรามาแถวสามย่าน เซนจูรีปากซอยรางน้ำ สิริรามาแถวเจริญกรุง  และนิวโอเดียนที่เยาวราช  วันไหนกลับรถไฟก็นัดกับโอได้  บ้านโออยู่แถวถนนไมตรีจิต เราก็แวะดูกันที่สิริรามา ไม่ก็โอเดียน

undergrad12.jpg
Our last semester.

Enter supporting content here

graday4.jpg
With mom and my sister on my graduation day

เมื่อเรียนเกษตร ผมทำงานไปด้วยเป็นระยะๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของแม่ที่เลี้ยงลูกเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมๆกันถึง 2 คน  ช่วงปิดเทอม ผมก็สมัครไปทำงานเอนทรานซ์  สมัยนั้นเมื่อสอบเอนทรานซ์แล้ว อาจารย์จะตรวจก็ต้องมีคนมาลงแขกช่วยกันนับ ช่วยกันบวกคะแนน กรอกคะแนน  งานเหล่านี้ทบวงมหาวิทยาลัยจะจ้างนิสิตเข้ามาช่วยกันในช่วงปิดภาคฤดูร้อน เพื่อให้ทันประกาศผลสอบในดือนพฤษภาคม  ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เราได้ค่าแรงกันวันละ 80 บาท ซึ่งถือว่าพอสมควรในยุคค่าข้าวราดแกงกับข้าวสองอย่าง 7 บาท  ผมได้เพื่อนใหม่จากต่างมหาลัยมาด้วยสองคน  เรายังคบกันอยู่จนผมเรียนปริญญาเอกก่อนจะแยกย้ายกันไปตามทางสายวิชาชีพของตนเอง  เมื่อผมเรียนปีสาม ผมรับเด็กสอนการบ้านไว้หนึ่งคน  ทำให้ผมมีรายรับเดือนละ 1,300 บาท ผมจะสอนเฉพาะเย็นวันอังคาร-พฤหัส-เสาร์   ชั่วโมงครึ่ง  และติวให้ในช่วงสอบ  เด็กที่ผมสอนเรียนอ่อนมาก  สอบตกประจำ หรืออย่างดีหน่อยก็ 52%  เมื่อผมไปสอนพิเศษให้ การเรียนของเขาก็กระเตื้องขึ้นเป็น 60%   ปู่ของเขาดีใจมาก เลยจ้างผมอยู่เกือบสองปีจนจบชั้นประถม